วัดศีลมหาสนิท

ความหมายของ “วัดคาทอลิก” โดย คุณพ่อวิวัฒน์ แพร่สิริ

วัดคาทอลิก หรือวัดคริสต์ มี 2 ความหมาย คือ วัดที่เป็นบ้านหรืออาคารที่มองเห็นได้ และวัดที่ไม่เป็นอาคาร สถานที่ที่ปรากฏแก่สายตาหรือมองไม่เห็น (Matt Slick – https://carm.org/church) กล่าวคือ เป็นที่สภาพซึ่งคริสตชนหรือผู้เชื่อในพระเจ้ามาชุมนุมกันเพื่อภาวนาถวายนมัสการพระเจ้า อาจไม่เป็นอาคารวัตถุถาวรก็ได้

วัดที่เป็นบ้านหรืออาคารที่มองเห็นได้ เป็นวัตถุสิ่งปลูกสร้าง มีรูปแบบอย่างเหมาะสมสวยงามและเป็นผลงานศิลปะที่เหมาะสมตามยุคสมัย เป็นเครื่องหมายพิเศษของพระศาสนจักรสำหรับมนุษย์ สามารถพบปะพระเจ้าและสะท้อนถึงชุมชนของผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่ในสวรรค์ด้วย เราใช้วัดเป็นสถานที่ชุมนุมของคริสตชน เพื่อภาวนานมัสการสรรเสริญพระเจ้าและรับพระพรแห่งพระเจ้าประกอบพิธีกรรมและศีลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงตั้งขึ้นเพื่อประทานพระพรแก่มนุษย์ ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญได้แก่ ศีลมหาสนิท หรือพิธีระลึกถึงงานเลี้ยงอาหารค่ำครั้งสุดท้ายของพระเยซูคริสตเจ้า ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “พิธีบูชาขอบพระคุณ” หรือพิธีมิสซา และศีลล้างบาป ศีลกำลัง ศีลอภัยบาป ศีลเจิมคนป่วย ศีลสมรส และศีลบรรพชา

วัดเป็นสถานที่ที่มนุษย์ผู้เชื่อในพระเจ้ามาประชุมรวมกลุ่มกันในนามของพระเจ้าหรือเป็นชุมชนแห่งคุณค่าฝ่ายจิต เป็นแกนกลางหรือศูนย์รวมแห่งจิตใจของผู้เชื่อศรัทธาในพระเจ้า กล่าวคือ กลุ่มคริสตชนผู้เชื่อในพระเจ้ามาชุมนุมรวมตัวกันภาวนาสรรเสริญพระเจ้า แสดงตนร่วมกันปฏิบัติกิจแห่งความเชื่อศรัทธา ความหวังไว้ใจในองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ไถ่กู้มนุษย์ คริสตชนแท้จริงจึงเจริญชีวิตโดยพระเยซูเจ้า ดังพระวาจา “ผู้ใดรักเรา ผู้นั้นจะปฏิบัติตามวาจาเรา พระบิดาของเราจะทรงรักเขา พระบิดาจะเสด็จพร้อมกับเรามาหาเขา จะทรงพำนักอยู่กับเขา และโดยอาศัยพระจิตเจ้า” (ยน 14.23)

วัดคริสต์ หมายถึง พระกายของพระคริสตเจ้า โดยมีพระเยซูคริสตเจ้าเป็นพระเศียร และมนุษย์เป็นอวัยวะแห่งพระกายทิพย์ของพระองค์ และชีวิตมนุษย์ทั้งร่างกายและจิตใจ จึงเป็นที่ประทับและพระวิหารของพระเจ้าด้วย

นักบุญเปาโล สอนว่า “แม้เราจะมีจำนวนมาก เราก็รวมเป็นร่างกายเดียวในพระคริสตเจ้าฉันนั้น โดยแต่ละคนต่างเป็นส่วนร่างกายของกันและกัน” (รม 12.5) และ “พระองค์ประทานให้บางคนเป็นอัครสาวก บางคนเป็นประกาศก บางคนเป็นผู้ประกาศข่าวดี บางคนเป็นผู้อภิบาลและอาจารย์ เพื่อเตรียมบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ไว้สำหรับงานรับใช้เสริมสร้างพระกายของพระคริสตเจ้า จนกว่าเราทุกคนจะบรรลุถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน ในความเชื่อและในความรู้ถึงพระบุตรของพรุเจ้า เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ตามมาตรฐานความสมบูรณ์ของพระคริสตเจ้า เราจะได้ไม่เป็นเหมือนเด็ก ถูกคลื่นลมซัดโคลงเคลงล่องลอยตามกระแสคำสั่งสอนทุกอย่างที่เกิดจากเล่ห์กลของมนุษย์ด้วยอุบายชาญฉลาดที่คอยหลอกลวงให้หลงผิดอีกต่อไป แต่ให้เราดำเนินชีวิตในความจริงด้วยความรัก เจริญเติบโตขึ้นจนบรรลุถึงความสมบูรณ์ในพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นพระเศียร พระองค์ทรงทำให้ร่างกายทุกส่วนประสานสัมพันธ์กันอย่างสนิทแน่นแฟ้น ทรงจัดให้ข้อต่อทุกข้อเสริมกำลังให้แต่ละส่วนทำหน้าที่ของตน ร่างกายจึงเจริญเติบโตและเสริมสร้างตนเองอย่างสมบูรณ์ขึ้นด้วยความรัก” (อฟ 4.11-16)

“วัด” เป็นคำศัพท์ภาษากรีก (Ecclesia) แปลว่า “มาร่วมชุมนุมกัน” หรือ “ที่ประชุม” ดังนั้น วัดจึงเป็นที่ชุมนุมของประชากรของพระเจ้า ผู้เชื่อในพระเจ้ามามีส่วนร่วมกันในความเป็นพี่น้องกัน ปฏิบัติตนในความรักและจิตใจยินดีรับใช้ช่วยเหลือกันติดตามกันและกันในลักษณะการภาวนา นมัสการสรรเสริญพระเจ้า และฟังพระวาจาของพระเจ้าหรือพระคัมภีร์ที่สอนเรา มนุษย์องค์รวมแห่งชุมชนของผู้เชื่อทั้งครบจึงเป็นแหล่งแห่งพระพรฝ่ายจิตอันแตกต่างกัน (รม 12.5-8) จุดประสงค์ของพระพรหรือของขวัญดังกล่าวคือ เพื่อทำให้เราเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์โดยปฏิบัติกิจรักเมตตาหรือบริการ ร่วมกันเสริมสร้างพระกายทิย์ของพระคริสตเจ้าให้ครบถ้วนสมบูรณ์สามารถหล่อหลอมทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันในความเชื่อศรัทธาและความรู้เกี่ยวกับพระบุตรของพระเจ้า เป็นมนุษย์ผู้บรรลุวุฒิภาวะตามมาตรฐานความสมบูรณ์ ในองค์พระคริสเจ้า (อฟ 4.12-13)

พระเยซูเจ้าตรัสถึงวัด หรือพระศาสนจักร หรือขุมชนของผู้เชื่อในพระเจ้า เมื่อซีโมน เปโตรทูลตอบว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านเป็นสุขเพราะไม่ใช่มนุษย์” ที่เปิดเผยให้ท่านรู้ แต่พระบิดาเจ้าของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงเปิดเผยเรา บอกท่านว่า ท่านศิลา และบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา ประตูนรก จะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้ (มธ 16.16-18 และ Mary Fairchild – https://www.thoughtco.com/what-is-the-church-700486)

นักบุญเปาโล สอนว่า “พระเจ้าทรงวางทุกสิ่งไว้ใต้พระบาทของพระคริสตเจ้า และทรงแต่งตั้ง พระคริสตเจ้าไว้เหนือสรรพสิ่ง ให้ทรงเป็นศีรษะของพระศาสนจักรซึ่งเป็นพระวรกายของพระองค์ เป็นความบริบูรณ์ของพระผู้ทรงอยู่ในทุกสิ่งและทรงกระทำให้ทุกสิ่งบริบูรณ์” (อฟ 1.22-23)

มาเป็นสมาชิกของชุมชนวัด

บุคคลใดสมัครเป็นสมาชิกของวัด โดยมาปฏิบัติศาสนกิจตามความเชื่อในองค์พระเยซูคริสตเจ้า ยอมรับว่าพระองค์ทรงเป็นองค์พระเป็นเจ้าและพระผู้ไถ่กู้ (ภาวนา ฟังพระวาจา รับศีลศักดิ์สิทธิ์ หรือร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ และปฏิบัติกิจเมตตาต่อเพื่อมนุษย์) และคำอธิบายอีกตอนหนึ่งสอนว่า เราจงพิจารณาหาทางปลุกใจกันและกันให้มีความรักและประกอบกิจการดี อย่าขาดการเข้าร่วมขุมนุมกันดังที่บางคนเคยทำ แต่จงตักเตือนกัน จงกระทำเช่นนี้ให้มากยิ่งขึ้น ดังที่ท่านเห็นแล้วว่าวันนั้นใกล้จะมาถึงแล้ว (ฮบ 10.24-25)

ในเวลาเดียวกัน ผู้เชื่อทุกคนเป็นสมาชิกของพระศาสนจักรสากลซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่ที่รวมทุกคนมาเป็นดังร่างกายเดียวกัน มาปฏิบัติความเชื่อศรัทธาเดียวกันในพระเยซูคริสตเจ้าเพื่อจะได้รับความรอดพ้น ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันกับสมาชิกทุกคนในวัดหรือชุมชนในท้องถิ่นของตนนทุกแห่งหนทั่วโลก เนื่องจากว่า “เดชะพระจิตเจ้าพระองค์เดียว เราทุกคนจึงได้รับการล้างมารวมเข้าเป็นร่างกายเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นชาวยิวหรือชาวกรีก ไม่ว่าเป็นทาสหรือไทก็ตาม เราทุกคนต่างได้รับพระจิตเจ้าพระองค์เดียว” (1คร 12.13) และมนุษย์ทุกคนต่างก็เป็นบุตรของพระเจ้า และเป็นประชากรของพระเจ้า มนุษย์ทุกคนจึงเป็นพี่น้องกัน

พิธีบูชาขอบพระคุณ (Mass or Eucharistic Celebration)

พระคัมภีร์ หนังสือปฐมกาล บันทึกดังนี้ “ในวันที่เจ็ด พระเจ้าทรงเสร็จสิ้นจากงานที่ทรงกระทำ พระองค์ทรงหยุดพักในวันที่เจ็ดจากงานทั้งหมดที่ทรงกระทำ พระเจ้าทรงอวยพรวันที่เจ็ดและทรงทำให้วันนั้นเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ เพราะในวันนนั้น พระองค์ทรงพักจากงานทั้งปวงที่ทรงกระทำในการเนรมิตสร้าง” (ปฐก 2:2-3)

ดังนั้นมนุษย์จึงหยุดำงานและอยู่กับพระเจ้า ภาวนา สรรเสริญ ขอบพระคุณพระเจ้า ฉลองวันพระเจ้าหรือวันที่เจ็ดของสัปดาห์ ตามแบบอย่างของพระเจ้า และเชื่อฟัง นบนอบปฏิบัติตามพระวาจั่งสอนของพระองค์ เขาได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวทุกคนในครอบครอบครัวได้พักผ่อน สรรเสริญ ภาวนาขอบพระคุณพระเจ้าในทุกสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงประทานให้ แต่ละคนได้ถวายผลงานรุ่นแรกและผลผลิตที่ดีที่สุดแด่พระเจ้า (เทียบ ปฐก 4:4) พระเจ้าทรงพอพระทัย และทรงอวยพรมนุษย์

เมื่อคริสตชนมาร่วมประชุมพร้อมกันที่วัดในวันอาทิตย์หรือวันพระเจ้า เขามาภาวนาที่วัด (Church) เพื่อเฉลิมฉลองสรรเสริญพระเจ้า ประกอบพิธีขอบพระคุณพระเป็นเจ้า แสดงตนประกาศยืนยันความเชื่อศรัทธาชื่นชมยินดีในชีวิตและกิจการดี กิจเมตตาที่ได้กระทำต่อผู้อื่น (ลก 2:22-26; 3:1-5) ครอบครัวและของประทานที่พระเจ้าทรงประทานในชีวิตและหน้าที่การงานของตน ดังที่พระเยซูเจ้าตรัสว่า “วันสับบาโตมีไว้เพื่อมนุษย์ มิใช่มนุษย์มีไว้เพื่อวันสับบาโต ดังนั้น บุตรแห่งมนุษย์จึงเป็นนายเหนือแม้กระทั่งวันสับบาโตด้วย” (ลก 2:27-28)

ปกติคริสตชนจะหยุดทำงานและมาฉลองวันพระเจ้าเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ ถวายเกรียติแด่พระเจ้า เป็นวันศักดิ์สิทธิ์แห่งชีวิตของตนและครอบครัว พิธีฉลองที่กระทำร่วมกันนี้ จึงเป็นทั้งกิจกรรมแห่งชีวิตที่ปฏิบัติสืบทอดมาตั้งแต่แรกเริ่มและเป็นการรำลึกถึงคำสอน ฟังพระวาจาของพระเจ้า แล้วนำไปปฏิบัติเพื่อนำพาชีวิตสู่ความสุขแท้จริงและความศักดิ์สิทธิ์ (เทียบ มธ 5:1-48; มก 3:31-35) และยึดถือแบบอย่างของพระเยซูเจ้าเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตและเสริมสร้างอาณาจักรสวรรค์แก่ชีวิตของตนและเพื่อนมนุษย์ทุกคนด้วย (มธ 6-10; เทียบ มก 4:1-41)

ดังนี้ กิจปฏิบัติที่ประชากรของพระเป็นเจ้ามาประชุมหรือชุมนุมกันในวันอาทิตย์ ได้กลับกลายเป็นคุณค่าและกระบวนการสร้างอาณาจักรสวรรค์ ณ แผ่นดิน เนื่องจากเป็นกิจปฏิบัตินำพาชีวิตดำเนินไปอย่างมีหลักประกันสำคัญคือ มีองค์พระเจ้าและพระคุณความดีในชีวิตมนุษย์ได้พักผ่อนทำให้ชีวิต สติปัญญา อารมณ์ จิตใจได้พักผ่อนในท่ามกลางบรรยากาศแห่งความรัก ใส่ใจกันและกันในครอบครัว สัมผัสอารมณ์ความรู้สึกดีๆ ของชีวิตที่รัก เข้าใจ ให้อภัย เอื้อเฟื้อมีใจอารีต่อกัน ส่งผลให้วันใหม่ตั้งแต่วันแรกของสัปดาห์ที่ตามมาเริ่มต้นอย่างสดชื่น เพราะชีวิตได้พักผ่อนในพระเจ้าและในครอบครัว จิตใจได้สัมผัสพระวาจา พระปรีชาญาณของพระเจ้า พระทัยรักและเมตตาของพระเจ้านำความเบิกบานสู่จิตใจและชีวิต

พิธีบูชาขอบพระคุณ เดิมเรียกว่าพิธีมิสซา เป็นกิจการที่ศิษย์ของพระเยซูคริสตเจ้าได้มาประชุมกันภาวนาสรรเสริญพระเจ้า ทำพิธีบิปังและแจกจ่ายแก่ทุกคนดังที่พระอาจารย์เจ้าได้ทรงกระทำในงานเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายกับรรดาศิษย์ของพระองค์ ก่อนทรงมอบชีวิต ทั้งพระกาย  พระโลหิตและพระวิญญาณเพื่อไถ่โทษบาปมนุษย์ตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้าสวรรค์ พระองค์ทรงยอมรับและปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้า แม้จะต้องยอมรับความตายบนไม้กางเขน พระองค์ทรงยอมนบนอบเชื่อฟัง ไถ่โทษบาปที่มนุษย์ ไม่เชื่อฟังพระเจ้า ตั้งแต่สมัยอาดัมและเอวาจนถึงอวสานของโลก ทรงยอมรับความทุกข์ทรมาน นำพาชีวิตเข้ารับแบกกางเขน ทรงแบกกางเขนมุ่งหน้าสู่เขากลโกธา ดังที่พระองค์ทรงเดินทางขึ้นสู่กรุงเยรูซาเล็ม นครศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า หรืออาณาจักรสวรรค์ (เทียบ ยน 19:16-22) บรรดาศิษย์จึงได้นำมาปฏิบัติตามแบบอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงมอบ และตามพระบัญชาของพระองค์ที่ว่า “จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด” (ลก 22:19)

พระเยซูเจ้าทรงกระทำพิธีบูชาขอบพระคุณอย่างเรียบง่าย ทรงใช้สถานที่ที่เหมาะสม มีโต๊ะธรรมดาสำหรับรับประทานอาหารร่วมกัน ทรงจัดเลี้ยงอาหารฉลองปัสกากับบรรดาศิษย์อย่างธรรมดาสามัญ ณ ห้องชั้นบนในบ้านแห่งหนึ่ง (มก 14:12-16; มธ 16:17-19) มีขนมปังและเหล้าองุ่น อาหารของประชาชนทั่วไป แต่ทรงนำมาประทานแก่ศิษย์ เป็นอาหารของชีวิตจากพระทัย รักมนุษย์จนถึงที่สุด (ยน 13:1) แล้วนั้น พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ตรัสถวายพระพร ทรงบิขนมปัง ประทานให้เข้าเหล่านั้น ตรัสว่า “จงรับเถิด นี่เป็นกายของเรา” แล้วพระองค์ทรงหยิบถ้วย ตรัสขอบพระคุณ ประทานให้เขาและทุกคนดื่มจากถ้วยนั้น พระองค์ตรัสกับเขาว่า “นี่เป็นโลหิตของเรา โลหิตแห่งพันธสัญญาที่หลั่งออกเพื่อคนจำนวนมาก” (มก 14:22-24; มธ 26:26-28; ลก 22:7-21)

ปัจจุบันคริสตชนประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณในวัดหรือโบสถ์ (Church) ซึ่งเป้นบ้านสามัญเรียบง่ายที่จัดเตรียมอย่างเหมาะสมหรือพระวิหารที่วัดสร้างขึ้นเพื่อใช้สวดภาวนา พบปะ ขอพรจากพระเจ้า โดยยึดถือว่าการภาวนาที่ดีและมีคุณค่ามากที่สุดคือ การประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ หรือพิธีมิสซา พระสงฆ์ เป้นผู้นำภาวนาสรรเสริญพระเจ้าในฐานะเป็นองค์พระเยซูเจ้าผู้ถวายพระองค์เองบนพระแท่นบูชา

ซึ่งเป็นโต๊ะรับประทานอาหารธรรมดาแบบพื้นบ้านหรือแบบที่ดีที่มนุษย์สามารถจัดเตรียมสำหรับพระเจ้าได้ อาจใช้รูปแบบ วัสดุสิ่งของ และศิลปะตกแต่งตามความเหมาะสมกับฐานะและยุคสมัยที่มนุษย์ขอมอบถวายแด่พระเจ้า ดังที่พระองค์ตรัสว่า

“จงไปเรียนรู้ความหมายของพระวาจาที่ว่า ‘เราพอใจความเมตตากรุณา มิใช่พอใจเครื่องบูชา’ เพราะเราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาป” (มธ 9:13) อุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในพิธีกรรมหรือพิธีบูชาขอบพระคุณก็เช่นเดียวกัน และของถวายแด่พระเจ้า เป็นเพียงอาหารธรรมดาประจำวัน พระองค์ทรงนำมาตรัสถวายพระพร ทรงบิปังและแบ่งปัน หรือประทานให้เขาเหล่านั้น ทรงบันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระกายและพระโลหิตของพระองค์หรือศีลมหาสนิท หมายถึงพระองค์ทรงเป็นเครื่องบูชาไถ่กู้มนุษย์ให้รอดพ้นจากบาปและความตาย ทรงมอบพระองค์เป็นบูชาแด่พระเจ้าและเป็นอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตจิตวิญญาณคริสตชนและประชาชนทั้งหลายเป็นกิจการที่ทรงกระทำเพื่อคนจำนวนมาก

แท้จริงพิธีบูชาขอบพระคุณยังเป็นกิจการที่มนุษย์มาชุมนุมกันทุกคนมาฟังพระวาจาของพระเจ้า ผู้อ่านคนหนึ่งอานจากพระคัมภีร์ในภาควจนพิธีกรรมบนบรรณฐานหรือที่อ่านที่เหมาะสม อาจเป็นโต๊ะวางหนังสือธรรมก็ได้หรือบรรณฐานสง่าสวยงาม ทุกคนจะได้ฟังพระวาจาขจองพระเจ้าจากพระคัมภีร์ ดุจดังพระเจ้าตรัสสอนโดยตรง พระสงฆ์หรือพระสังฆราชทำหน้าที่ศิษย์อธิบายสอนแก่คริสตชนตามความเหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางคำสอนนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และพระสงฆ์ผู้เป็นประธานพิธีภาคถวายบูชาขอบพระคุณ ภาวนาและมอบของถวายหรือเครื่องบูชาที่นำมามอบแด่พระเจ้าพร้อมถวายพระพร ขอบพระคุณพระเป็นเจ้าในพันธกิจอันยิ่งใหญ่ที่ทรงกระทำเพื่อมนุษย์ทั้งหลาย พระเยซูเจ้าจึงทรงเป็นทั้งผู้ถวายบูชา (ยน 17:9) เป็นเครื่องบูชาถวายแด่พระบิดาเจ้า (ยน 17:19) ดังที่เพระองค์ทรงมอบถวายชีวิตเพื่อถ่โทษบาปมนุษย์ และพระองค์ได้ทรงเป็นพระท่านถวายเครื่องบูชาอันเป็นพระกายของพระองค์ด้วย (มก 14:32-36)

แต่อย่างไรก็ตาม ประชากรของพระเจ้าสามารถจัดเตรียมและถวายสิ่งปลูกสร้างพระวิหาร วัดใหญ่วัดน้อยและสิ่งของอุปกรณ์เครื่องใช้ของถวายดีที่สุด แด่พระเจ้า จากน้ำพักน้ำแรงตามความสามารถของตน รวมทั้งสถานที่ส่วนหนึ่งใช้สำหรับประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์อื่น เช่น ศีลล้างบาป ศีลกำลัง ศีลอภัยบาป ศีลสมรส ศีลบวช และศีลเจิมคนป่วย

พระเยซูเจ้าตรัสสอนอีกว่า วัดเป็นสถานที่ที่เราใช้นมัสการพระเจ้าเดชะพระจิตเจ้า และตามความจริง (ยน 4: 20-24) ดังที่บรรพบุรุษแห่งความเชื่อได้ปฏิบัติมา แต่ผู้นมัสการต้องปฏิบัติพร้อมด้วยจิตใจระลึกว่า พระเจ้าทรงพอพระทัยความเมตตากรุณา มิใช่พอใจเครื่องบูชา นั่นคือทรงต้องการจิตใจมนุษย์ที่เมตตากรุษา รัก และรับใช้กันและกัน ดังพระวาจาที่ว่า จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง และสิ่งนั้นที่แบ่งออกและมอบให้ผู้ต่ำต้อยเป็นกิจเมตตากรุณาที่พระเจ้าทรงพอพระทัยพระองค์ตรัสสรุปว่า ‘เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา’ (มธ 25:40)

Share on facebook
แชร์บทความ