พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว:

บทนำ ข้อศีกษาวิพากษ์1 และข้อคิดไตร่ตรอง2

จาก The Gospel of Matthew by M. Eugene Boring3 และ พระเยซูเจ้าแห่งนาซาเร็ธ โดย โจเซฟ รัตซิงเกอร์
ถอดความและเรียบเรียง โดย วิวัฒน์ แพร่สิริ และคณะ4

บทนำ

การจัดทำคำอธิบายตีความพระวรสารนักบุญมัทธิวนี้ ยึดหลักแนวปฏิบัติสำหรับการตีความพระคัมภีร์ โดยคณะกรรมการพระคัมภีร์แห่งสันตะสำนัก โดยพระคาร์ดินัล โจเซฟ รัตซิงเกอร์ (พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16: ค.ศ. 2006-2013) เสนอต่อพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 เมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1993 กับได้เข้ารับการศึกษาหลักสูตรผู้นำงานอภิบาลที่ใช้พระคัมภีร์เป็นฐาน จัดโดยคณะสงฆ์แห่งพระวจนาตถ์ ณ ศูนย์อบรมการประกาศข่าวดี เนมี กรุงโรม ประเทศอิตาลี การเข้ารับการศึกษาเรียนรู้หลักสูตรอบรมพระคัมภีร์ พระวรสารนักบุญมัทธิว: ติดตามรอยพระบาทพระเยซูเจ้าในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ผสานกับพระสมณสาสน์เรื่องพระวาจาของพระเป็นเจ้า ประสบการณ์ในงานอภิบาลชุมชนวัดและการศึกษาเล็กน้อย ระหว่าง ปี ค.ศ. 1982-2015 และตั้งใจเรียนรู้แปลแบบถอดความกับใช้เป็นข้อคิดไตร่ตรองประกอบงานอภิบาล เป็นบทเทศน์ในมิสซาวันอาทิตย์และมิสซาประจำวัน จากหนังสือศึกษาวิพากษ์และข้อคิดไตร่ตรอง พระวรสารนักบุญมัทธิว โดย เอ็ม ยูจีน โบริ่ง จากหนังสือชุด The New Interpreters’ Bible ของสำนักพิมพ์ Abingdon, U.S.A. ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 ประกอบกับหนังสือ พระเยซูเจ้าแห่งนาซาเร็ธ โดย โจเซฟ รัตซิงเกอร์ (พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16) แปลโดยบาทหลวงทัศไนย์ คมกฤส ค.ศ. 2013 นำมาประมวลกัน

เริ่มจากเรียนรู้จักพระวรสารเป็นหนังสือผลงานการรวบรวม เรียบเรียงข้อความข่าวสาร หลากหลายรูปแบบจากต้นฉบับหลายประเภท เช่น ฉบับที่เขียนด้วยลายมือ (Manuscripts) ฯลฯ บันทึกชีวิตและพันธกิจของพระเยซูคริสตเจ้าเกี่ยวกับข่าวดีแห่งอาณาจักรพระเป็นเจ้า คำว่า Gospel หรือพระวรสาร (Eujagge”lion Euaggelion5) ซึ่งเป็นคำที่เริ่มใช้สื่อ ประกาศสอนถึงข่าวดีตั้งแต่ในพระศาสนจักรยุคแรกเริ่ม ชุดหนังสือพระวรสารมี 4 เล่ม คือ พระวรสารนักบุญมัทธิว นักบุญมาระโก นักบุญลูกา และนักบุญยอห์น ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ และเป็นส่วนหนึ่งในสารบบของพระคัมภีร์ในภาคพันธสัญญาใหม่ มีเนื้อหาสาระเพื่อใช้ในการประกาศสอน อ้างอิงและตีความหมายสืบเนื่องกับพระคัมภีร์เล่มอื่นๆ 

พระวรสารนักบุญมัทธิวเป็นพระวรสารฉบับ “ยอดนิยม” ในศาสนาคริสต์ยุคแรกเริ่ม จัดเป็นหนังสือลำดับแรกของหนังสือทุกเล่มในพระคัมภีร์ใหม่ด้วยความเข้าใจว่าเป็นหนังสือพระวรสารที่เขียนขึ้นเป็นเล่มแรก และเป็นเล่มที่บรรดาปิตาจารย์แห่งพระศาสนจักร (Church Fathers) ได้ยกข้อความมาใช้อ้างอิงบ่อยที่สุด มีเหตุผล

หลายข้อที่ทำให้ผู้อ่านในปัจจุบันสามารถเข้าใจได้ไม่ยากว่าหนังสือเล่มนี้ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าวคือ พระวรสารนักบุญมัทธิวมีโครงสร้างที่ได้รับการออกแบบอย่างดี รูปแบบลักษณะการเขียนเอื้อต่อการจดจำ มีเนื้อหาคำสอนสำคัญเป็นที่รู้จักคุ้นเคย จัดลำดับและให้ความหมายอย่างชัดเจนเข้าใจง่าย และเนื้อหาสาระเป็นข้ออ้างอิงปรากฏอยู่ในพระวรสารเล่มอื่นด้วย (เช่น มหาบุญลาภแปดประการ บทสวดข้าแต่พระบิดาฯ คำสารภาพของนักบุญเปโตร และข้อพระธรรมคำสอนอุปมา นิทานเปรียบเทียบต่างๆ) ผู้อ่านจะทราบดีว่าเนื้อหาเหล่านั้นอยู่ที่ใดในพระวรสารนักบุญมัทธิว วิธีการเขียน วัตถุประสงค์เด่นชัดและเล่าเรื่องมีลักษณะแตกต่างจากพระวรสารนักบุญมาระโกและพระวรสารนักบุญลูกา เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือผู้เขียนเป็นอัครสาวกประจักษ์พยาน (Apostolic Eyewitness) ของพระเยซูเจ้า นักบุญมัทธิวเริ่มต้นนิพนธ์ด้วยการจัดเรียงลำดับวงศ์ตระกูล (Genealogy) เหมือนกับหนังสือปฐมกาล (Genesis) แห่งพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม เรื่องการไถ่กู้มนุษย์ให้รอดพ้น (Redemption) ของพระเยซูเจ้า เป็นเรื่องการสร้างใหม่ (New Creation) ซึ่งการเล่าลำดับวงศ์ตระกูลเป็นบันทึกสำคัญของยุคสมัยแห่งพันธสัญญาเดิม แต่ผู้อ่านสมัยใหม่อาจดูว่าเป็นบันทึกหรือสิ่งเกี่ยวข้องที่ไม่สำคัญและไม่จำเป็น แต่ผู้นิพนธ์พระวรสารประสงค์ใช้เป็นวิธีการสื่อหรือเป็นสะพานที่ช่วยให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างพระวรสารกับพระคัมภีร์ของชนชาติอิสราเอล หรือทบทวนการตีความของผู้อ่านในยุคสมัยก่อนในเส้นทางแห่งพระสัญญาสู่ภารกิจแห่งพระเมสสิยาห์ ที่ปรากฏเป็นจริงในองค์พระเยซูเจ้าให้ผู้อ่านรุ่นต่อมาได้มองเห็นความต่อเนื่องและภารกิจที่ทรงทำให้พระสัญญาแห่งการไถ่กู้ให้รอดพ้นสำเร็จเป็นจริง

กระบวนการตีความพระวรสารต้องใช้หลักและวิธีการอย่างมีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมและดำเนินการอย่างมีจิตสำนึก กล่าวคือเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้อ่านจะต้องตีความอย่างสอดคล้องกับลักษณะตามธรรมชาติของพระวรสารเอง เช่นเดียวกับพระวรสารเล่มอื่นๆ ของพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ กล่าวคือดำเนินการตีความหรือทบทวนตีความหมายตามแนวทางที่สมณสภาว่าด้วยพระคัมภีร์คาทอลิกได้ให้หลักเกณฑ์สำหรับการตีความและความเข้าใจพระคัมภีร์อย่างเป็นเหตุเป็นผล พิสูจน์ทบทวนตรวจสอบได้ในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ วรรณกรรมและความหมายอย่างเป็นระบบหรืออย่างเป็นเชิงระบบ (คณะกรรมาธิการพระคัมภีร์แห่งสันตะสำนัก, 1993) กับในฐานะที่พระวรสารเป็นบันทึกเหตุการณ์และข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ของโลกและในประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น แต่ไม่ใช่บันทึกประวัติศาสตร์โดยตรงหรือทั้งหมด ในเวลาเดียวกันเป็นบันทึกการตีความ(Interpretation) หรือการทบทวนตีความหมาย (Reinterpretation) จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงและในความทรงจำที่ระลึกหรือหวนระลึกได้6 ซึ่งเมื่อตรวจสอบกับหลักการ หลักธรรมและสัจธรรมที่ได้ปรากฏให้เห็น จึงเกิดเป็นบทเรียนหรือสามารถถอดความเป็นบทเตือนใจ ได้พบสัมผัสกับรสพระธรรมที่แฝงซ่อนอยู่ในเหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นหรือเกิดจากบุคคลนั้นๆ สามารถเป็นคติธรรม เป็นแสงสว่างนำทางชีวิต กล่าวคือเป็นบทเรียนที่ได้รับโดยทางจิตที่สามารถสัมผัส เพ่งพิศและ/หรือการส่องสว่างของพระจิตเจ้า ในทำนองเดียวกัน เมื่อรำลึกและพิจารณาแล้วพบว่าเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง มีคุณค่าความหมายแก่ชีวิตเหมือนกับธรรมบัญญัติ หลักศีลธรรมอย่างเหมาะสมหรืออย่างลึกซึ้ง ยิ่งเมื่อได้นำมาปฏิบัติแล้วพบว่าบันดาลสิ่งดีๆ และคุณค่าดีงามแก่ชีวิตหรือผู้ปฏิบัติตามหรือศรัทธา ทั้งยังมีความเป็นเหตุเป็นผล สมเหตุสมผล เป็นหลักการสำคัญแบบไม่ขึ้นกับเวลา(อกาลิโก) เกิดความหมายและคุณค่าอย่างลึกซึ้งแปรเปลี่ยนไปตามบริบทและเจตคติ มองเห็นแยกแยะความแตกต่างจากความเหมือน และมองเห็นความเหมือนในความแตกต่าง ซึ่งนำคุณค่าที่มากกว่าแก่ประชาชนอย่างเหมาะสมตามบริบท สภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ และสุดท้ายการตีความต้องดำเนินไปบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงอย่างเป็นไปตามแก่นสาระในตัวเองหรือวัตถุวิสัยบนพื้นฐานแห่งเทววิทยา (โจเซฟ รัตซิงเกอร์, “พระเยซูเจ้าแห่งนาซาเร็ธ” หน้า 404-416) กล่าวคือ ภายในจิตใจผู้อ่านและตีความที่แสวงหาพระเป็นเจ้า สัจธรรม ความดีและความงดงามภายใต้พระจิตเจ้า องค์ความสว่างที่ส่องแสงสว่างดลบันดาลในจิตใจหรือโดยพระบุตร พระวจนาตถ์หรือพระวาจาของพระเป็นเจ้า(ในพระคัมภีร์ สารแห่งความรอดพ้นที่พระเป็นเจ้าทรงเปิดเผยแสดงแก่มนุษย์) ทั้งนี้ เนื่องจากพระวรสารนักบุญมัทธิวเป็นหนังสือที่นิพนธ์ในรูปแบบวรรณกรรมตีความในแบบการทบทวนตีความ (Reinterpretation) ในมุมมองที่แตกต่างหรือมุมมองใหม่เชิงศาสนาเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง นำพาผู้คนที่อยู่ในสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์แบบหนึ่ง ให้ตระหนักไตร่ตรองถึงสถานการณ์ที่แตกต่างกันของตน อย่างเกิดคุณค่าและมีความหมาย ดังนั้นการ(ทบทวน)ตีความพระวรสารเพื่อใช้ในชีวิตและพันธกิจของพระศาสนจักรจึงควรดำเนินบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ วรรณกรรม เทววิทยาและ/หรือศาสนาไปพร้อมๆ กัน แนวทางเหล่านี้ไม่สมควรแยกออกจากกันและกันหรือไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ต้องคำนึงถึงความสอดคล้องไปกับธรรมชาติของพระวรสารเองด้วย

ความรู้ทั่วไป