พระวรสารนักบุญมัทธิวในมุมมองทางประวัติศาสตร์

คำวิจารณ์เชิงประวัติศาสตร์ : การตีความเนื้อหาที่มีหลายระดับชั้น

พระวรสารจัดเป็นเอกสารเชิงประวัติศาสตร์ เนื่องจากแต่ละเล่มเป็นการอธิบายความหมายเชิงเทววิทยาเกี่ยวกับบุคคลในประวัติศาสตร์ผู้หนึ่ง และจัดรวบรวมขึ้นมาพร้อมกับอธิบายสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง อภิปรายลักษณะบริบททางประวัติศาสตร์ ได้แก่ เรื่องคำบอกเล่า (Saying) เหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้ และข้อคำสอนที่เป็นสัจธรรมสำหรับทุกยุคสมัย (อกาละ, อกาลิโก – Timeless) ผู้เขียนแสดงความคิดเห็น (Commentary) ข้อวิพากษ์ศึกษาหรือข้อคิดไตร่ตรองเพิ่มเติมในมุมมองที่ตนเข้าใจสำหรับผู้อ่านร่วมสมัย ไม่ได้มุ่งเน้นสู่ผู้อ่านยุคใดยุคหนึ่งหรือยุคปัจจุบันโดยตรง แต่มุ่งบอกเล่าตามสถานการณ์ (ทางประวัติศาสตร์) ตามกาลเวลายุคสมัยและสถานที่ กับอีกสถานการณ์หนึ่งซึ่งแตกต่างแต่คล้ายกัน สัมพันธ์กัน

เช่นเดียวกันพระวรสารนักบุญมัทธิวกับหนังสือเล่มอื่นๆ ในพระคัมภีร์ใหม่ มีธรรมชาติเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ เล่าเรื่องข้อมูล ข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ การตีความที่ถูกต้องเหมาะสมจะต้องอ่าน วิเคราะห์ ทำความเข้าใจเนื้อหาโดยพิจารณาคำนึงถึงบริบทแวดล้อมดั้งเดิม เราควรให้เอกสารบอกเล่าเรื่องราวกับผู้คนในยุคสมัยนั้นตามกรอบความคิดของพวกเขาและอธิบายถึงสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญ และถ้าหากเอกสารนี้พูดกับเราในสิ่งที่เราให้ความสำคัญด้วย (ซึ่งพระศาสนจักรทุกยุคทุกสมัยเข้าใจและเชื่อมั่นเช่นนั้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราศึกษาพระคัมภีร์) เท่ากับว่าถ้อยคำในพระคัมภีร์บอกเล่ากับมนุษย์ทุกคนอย่างแท้จริง ไม่ได้เป็นเพียงภาพสะท้อนของความปรารถนา อุดมคติ หรือความกังวลของมนุษย์ (เชิงอัตวิสัย) ไม่ใช้ความรู้สึกส่วนบุคคลเป็นหลักในการตีความใดๆ ซึ่งอาจจะทำให้เราไม่เห็นความต่างระหว่างความหมายแบบโบราณที่แท้จริงภายใต้บริบทดั้งเดิมกับความหมายแบบยุคสมัยใหม่ภายใต้บริบทของสมัยใหม่ของเนื้อหานั้น ประเด็นนี้ทำให้เราไม่ควรเพิกเฉยกับการค้นหาว่าสิ่งนี้ “หมายความว่าอย่างไรในสมัยนั้น” หากเราต้องการจะค้นพบว่าพระวาจา (ข้อความในพระคัมภีร์) “หมายความว่าอย่างไรในสมัยนี้” ในกาลเวลา สภาพแวดล้อม สถานการณ์และสถานที่ของเรา

ความปรารถนาของผู้อ่านชาวคริสต์ที่ต้องการจะนำถ้อยคำในพระวรสารนักบุญมัทธิวมาปรับใช้กับสถานการณ์ของตนเองถือเป็นผลพลอยได้จากลักษณะเหตุการณ์อันเฉพาะเจาะจงของเรื่องราวเกี่ยวกับพระคริสต์  พระเยซูเจ้าแห่งนาซาเร็ธ พระองค์ทรงเป็นชาวยิว พูดภาษาอราเมอิก อาศัยอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ในศตวรรษที่หนึ่ง ทรงเป็นพระบุคคลที่มีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์ในกรอบเวลาที่แน่ชัดไม่ใช่มนุษยชาติโดยภาพรวม ซึ่งเอกสารในสารบบพระคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่ทั้งหมดที่สื่อถึงความหมายของเหตุการณ์นี้เป็นเอกสารประวัติศาสตร์อันเป็นข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน และเป็นเหตุการณ์ที่น่ายินดีแบบการเฉลิมฉลอง เพราะในเมื่อหลักคำสอนนี้เล่าถึงการปรากฏของพระเมสสิยาห์ว่าได้รับการยืนยันให้เราแน่ใจว่าทรงเป็นพระเยซูเจ้าผู้มีตัวตนในประวัติศาสตร์ ในความเป็นพระคริสต์ของพระเยซูเจ้า ย่อมหมายความว่าโลกและชีวิตมนุษย์ได้รับการยืนยันเช่นกัน หรือกล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้เพียงแสดงองค์ปรากฏในความสมบูรณ์แบบนิรันดรภาพ (Eternal Absolutes) หรือเหนือธรรมชาติเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่พระองค์ยังปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความคลุมเครือ (Historical Ambiguities) แห่งชีวิตนี้และโลกนี้

การตีความเชิงประวัติศาสตร์ต้องเหมาะสมกับการเผยแสดงทางประวัติศาสตร์ (Historical Revelation) เมื่อทรงเป็นพระเยซูคริสต์ที่มีตัวตนในประวัติศาสตร์ และพระคัมภีร์ได้บันทึกเป็นข้อเท็จจริงเชิงประวัติศาสตร์  สิ่งนี้จึงหมายความว่าการตีความทั้งหมดจะมีกรอบชัดเจน ประกอบจากส่วนแยกย่อยเล็กๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความเป็นจริงของประวัติศาสตร์และมนุษย์ที่มีขอบเขตจำกัด ผู้เป็นนักตีความ เมื่อจะต้องตัดสินความหมายต่างๆ พึงยึดหลักวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ คือ ตีความบนฐานของข้อเท็จจริง ไม่ใช่ในความสมบูรณ์อันไร้ขอบเขต และจากการตีความบนฐานสิ่งเป็นจริงซึ่งมีขอบเขตจำกัด เป็นสิ่งเกิดขึ้นได้อย่างพิสูจน์ตรวจสอบได้ และเป็นสิ่งดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ การศึกษาประวัติศาสตร์โดยตัวเอง ไม่อาจเกี่ยวข้องกับความสมบูรณ์แบบอันไร้ขอบเขต (Absolutes) และกระบวนการศึกษาเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งไม่ดีหรือไม่ถูกต้อง แต่เป็นกระบวนการที่ใช้วิทยาการการศึกษาอย่างมีหลักเกณฑ์และบนพื้นฐานของข้อพิสูจน์ตรวจสอบได้ จึงเป็นสิ่งน่ายินดีและอธิบายถึงพระวจนะของพระเป็นเจ้า ที่สื่อผ่านการเผยแสดงเป็นปรากฎการณ์จริงอย่างมีหลักฐานที่สามารถได้รับการตีความตามหลักการและกระบวนการทางวิชาการตรวจสอบพิสูจน์ความเป็นจริงแท้ยืนยัน โดยนักประวัติศาสตร์  ต่อไปเราจะพิจารณาส่วนต่างๆ ต่อไปนี้ ในมิติต่างๆ ในการตีความเชิงประวัติศาสตร์ในบันทึกของพระวรสารนักบุญมัทธิว

เนื้อหาสาระของพระวรสารมัทธิว

นักศึกษาทุกคนผู้ศึกษาพระวรสารนี้ต่างทราบว่าเป็นฉบับที่มีการเรียบเรียงขึ้นใหม่ เนื่องจากต้นฉบับที่แท้จริงนั้นสูญหายไป เช่นเดียวกับหนังสือเล่มอื่นๆ ในพระคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่ อย่างไรก็ตาม นักศึกษาวิจารณ์เนื้อหา (พระคัมภีร์) ได้ดำเนินการทำตรวจสอบจนได้เนื้อหาสาระ พระวรสารนักบุญมัทธิวใกล้เคียงกับต้นฉบับดั้งเดิมมากที่สุดและเป็นฉบับที่ดีที่สุดออกมา ที่ผ่านการตรวจสอบความเชื่อมั่น “ระดับมาก” ในความถูกต้อง ถึงแม้จะไม่หมดทั้งฉบับ พระคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่ภาษากรีกสองฉบับที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางที่สุดนี้ มีผู้เรียบเรียงคณะเดียวกัน (UBSGNT and Nestle-Atland 27) ดังนั้นเนื้อหาทั้งสองฉบับจึงเหมือนกัน ระบบการวิเคราะห์ (Critical Apparatus) ของพระคัมภีร์ฉบับ The Greek New Testament4 (UBSGNT) พบว่าในพระวรสารนักบุญมัทธิวมีชุดคำอ่านเป็นตัวแปรที่แตกต่างกัน (Variant Readings) 160 แห่ง โดยเลือกมาเฉพาะข้อความที่สำคัญสำหรับการแปลเป็นภาษาอื่น ส่วนพระคัมภีร์ฉบับ Novum Testamentum Greece 27 (Nestle-Atland 27) มีชุดคำอ่านเป็นตัวแปร (ที่แตกต่างกัน) ในพระวรสารนักบุญมัทธิวมากกว่า 1,000 แห่ง ซึ่งเป็นส่วนที่เลือกมาเฉพาะข้อความที่มีความสำคัญต่อการศึกษาอธิบาย ส่วนเนื้อหาฉบับที่ไฮน์ริค กรีฟเวน (Heinrich Greeven) จัดวางโครงสร้างเรียบเรียงใหม่แตกต่างกับฉบับ UBSGNT และ Nestle-Atland 27 ทั้งหมด 160 แห่ง แสดงว่าในหนึ่งบทจะมี 6 ตอน ที่พระคัมภีร์ภาษากรีกทั้งสองฉบับเห็นแตกต่างออกไปในเรื่องถ้อยคำที่อยู่ในต้นฉบับดั้งเดิมของพระวรสาร พระคัมภีร์ ฉบับ NRSV (New Revised Standard Version) นั้นยึดเนื้อหาตามมาตรฐานฉบับ UBSGNT และ Nestle-Atland 27 ส่วนที่แตกต่างมีน้อยมาก   ส่วนพระคัมภีร์ฉบับ NIV (New International Version) ยึดตามเนื้อหาจากหลายๆ แหล่งที่สรรหารวบรวมและจัดวางโครงสร้างโดยผู้แปล ดังนั้นความแตกต่างระหว่างฉบับ NRSV กับ NIV ไม่ใช่การแปลที่แตกต่างกัน แต่อยู่ที่การไตร่ตรองของผู้แปลที่เลือกใช้คำและถ้อยคำแตกต่างกันจากต้นฉบับภาษากรีก

การวิเคราะห์แหล่งที่มา (Source Analysis)

บางครั้งเรียก “วรรณกรรมวิจารณ์” (Literary Criticism) เป็นวิธีการศึกษาตรวจสอบว่าผู้ประพันธ์ได้เนื้อหามาจากแหล่งใด มีลักษณะและรูปแบบเป็นอย่างไร ในช่วงศตวรรษที่สิบเก้าและศตวรรษที่ยี่สิบตอนต้น มีข้อสรุปทางวิชาการว่าแหล่งที่มาสำคัญของเนื้อหาในพระวรสารนักบุญมัทธิว คือ พระวรสารนักบุญมาระโก กับชุดรวบรวมคำพูดสอนของพระเยซูเจ้า (Sayings of Jesus) พร้อมคำบรรยายเพิ่มเติมเล็กน้อย ซึ่งเรียกว่า แหล่ง(ข้อมูล) “Q” แต่ในช่วงเวลาไม่นานมานี้ มีทัศนะทางความคิดเห็นใหม่ที่แตกต่างเกี่ยวกับแหล่งที่มาหลัก จากการตั้งข้อสงสัยและตั้งคำถามมาศึกษาพิจารณาวินิจฉัยทั้งหมดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา กลับมีความเห็นที่เป็นเอกฉันท์อย่างสอดคล้องและที่ยึดตามหลักความเชื่อ (Dogmatism) น้อยลงกว่าแต่ก่อน กับหลีกเลี่ยงโดยใช้วิธีแก้ปัญหาแบบง่ายๆ นั่นคือ นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่านักบุญมัทธิวใช้ข้อมูลแหล่ง “Q” (ในรูปแบบที่แตกต่างไปจากที่นักบุญลูกาใช้เล็กน้อย) และใช้พระวรสารนักบุญมาระโก (ในรูปแบบที่ปรับเปลี่ยนเล็กน้อยจากที่ปรากฏในพระคัมภีร์ใหม่) รวมทั้งใช้แหล่งเอกสารอื่นๆ ในกระแสธรรมประเพณีของตน (เรียกแหล่ง “M”) ซึ่งเป็นแหล่งที่มาหลักในการนิพนธ์พระวรสาร ส่วนข้อศึกษาวิพากษ์ (Commentary) พิจารณาจากมุมมองหรือสมมุติฐานว่านักบุญมัทธิวใช้แหล่งที่มาทั้งสองแห่ง เช่นเดียวกับสมมติฐานการศึกษาพระวรสาร สหทรรศน์

การวิจารณ์รูปแบบ (Form Criticism)

แหล่งที่มาหลักของการเขียนพระวรสารนักบุญมัทธิว คือธรรมประเพณี เรื่องบอกเล่าด้วยวาจา (Oral Tradition) ซึ่งถ่ายทอดเล่าสืบต่อกันมาแบบปากเปล่าเป็นเวลาหลายสิบปีหลังเหตุการณ์การกลับคืนพระชนม์ชีพ เล่าสาระเนื้อหาของเรื่องราวและคำสอนของพระเยซูคริสต์ได้ถ่ายทอดต่อกันจากปากต่อปากในชีวิตของชุมชนชาวคริสต์ ในลักษณะเรื่องเล่าจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง กับบันทึกที่เป็นชุดรวมเรื่องเล่าดังกล่าว ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงแค่ “ชีวิตของพระเยซูคริสต์” แต่เป็นพยานยืนยันถึงความหมายทั้งหมดของเหตุการณ์(บันดาลใจ)เกี่ยวกับพระคริสต์ ซึ่งอยู่ในรูปแบบของคำเทศนา คำสอน การสักการบูชา ความขัดแย้ง และการชี้แจงแถลงไขต่างๆ ของพระศาสนจักรตามความเข้าใจความหมายของคำสอนของพระคริสต์และคุณค่าต่อชีวิตของชาวคริสต์ ในสมัยนั้นๆ ซึ่งได้เล่าสื่อสารและรับฟังต่อๆ กันมา ดังนั้นแต่ละตอนของเรื่องเล่าจึงเป็นคำพยานยืนยันทางศาสนาถึงความหมาย ความศรัทธาของชาวคริสต์และเป็นสิ่งที่ปรารถนาเผยแพร่ ออกไปอย่างกว้างขวาง สื่อสาร-คุณค่า ความหมายกับตีความใหม่อย่างต่อเนื่องและเหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนไป

ขณะที่พระศาสนจักรถ่ายทอดคำสอนของพระเยซูเจ้า ธรรมประเพณี และเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระคริสต์ ในรูปแบบวิธีการและเนื้อหาที่แตกต่างกันหลายอย่าง จากอิทธิพลแวดล้อมของประเพณีชาวยิวและชาวกรีก (Jewish and Hellenistic Environment) ซึ่งพระศาสนจักรได้ยอมรับมาและดัดแปลงอย่างเหมาะสม รายการรูปแบบและวัตถุดิบที่ใช้จากผลการศึกษาของรูดอล์ฟ บุลท์แมน (Rudolf Bultman) และเสริมด้วยพัฒนาการหลายอย่างในปัจจุบัน ได้จัดเนื้อหาวัตถุดิบ รูปแบบงานเขียนเป็นประเภทหลักๆ และแบ่งเป็นประเภทย่อยๆ ได้อีก ดังนี้

1. เนื้อหาวัตถุดิบของประเภท “คำพูด” (Saying Material)

  1. คติพจน์ (Apothegms) หรือคำพูดสอนใจของพระเยซูเจ้า ซึ่งทำหน้าที่เป็น “สาระข้อคิด” (Punch Line) ในบริบทที่เป็นการบรรยายเรื่องสั้นๆ บางครั้งเรียกว่า “Pronouncement Stories” หรือกระบวนทัศน์ (Paradigm) รูปแบบที่เกี่ยวข้อง คือเกร็ดเรื่องเล่า (Chreia) ซึ่งมีกรอบโครงสร้างการบรรยายเรื่องน้อยกว่า
  2. คำพูดของพระหรือคำสั่งสอน (Dominical Sayings) หรือคำพูดของพระเยซูเจ้าที่แพร่กระจายอยู่ในขนบธรรมเนียมของผู้คน โดยไม่อยู่ในโครงสร้างแบบการบรรยายเรื่อง
  1. Logia มีชื่อหนึ่งว่า “สุภาษิต” หรือ “คติสอนใจ” (มธ. 6:27-28; 7:6; 10:10ข)
  2. คำพูดเกี่ยวกับการทำนายหรือวันสิ้นโลก (มธ. 5:3; 10:32-33; 11:22-24; 16:28)
  3. คำพูดเกี่ยวกับกฎหมายและกฎเกณฑ์ของพระศาสนจักร (มธ. 6:2-4, 5-6, 16-18)
  4. คำพูดที่ขึ้นต้นด้วย “เรา” (“I” sayings) (มธ. 5:17)
  5. คำพูดเปรียบเทียบและเรื่องอุปมา (มธ 13: 3-9; มก. 4:3-9)

2. เนื้อหาประเภทเรื่องเล่า (Narrative Material)

  1. เรื่องเล่าเกี่ยวกับปาฏิหาริย์ (มธ 8:23-27; 9:1-8)
  2. เรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์และตำนาน (มธ 3: 13-17; มก. 1:9-11)

การวิจารณ์รูปแบบ (Form Criticism) ปกติรูปแบบและเนื้อหากับการสื่อความหมายจะผูกสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างไม่สามารถแยกได้ง่าย การศึกษาต้องวิเคราะห์รูปแบบ สภาพที่ตั้ง(ท้องถิ่น) การสื่อความ และความหมายของข้อความแต่ละตอนในธรรมประเพณี ในช่วงระหว่างการถ่ายทอดเรื่องราวแบบปากต่อปาก (Oral Transmission) พิจารณาดูว่ารูปแบบของข้อความ สาระเนื้อหาเพื่อรับรู้ความหมายที่ต้องการสื่อสารถึงผู้อ่านว่าเป็นอย่างไร การวิจารณ์รูปแบบเป็นขั้นตอนหนึ่งของการอธิบายตีความหมาย (Exegesis) ที่ดีและเหมาะสม กระบวนการศึกษาวิเคราะห์นี้จะนำไปสู่โอกาสให้ผู้ตีความสมัยใหม่สามารถสัมผัสได้ถึงพลวัตรการเปลี่ยนแปลง (Dynamism) ของชุมชนชาวคริสต์ที่เกิดขึ้น ในสมัยพระศาสนจักรยุคแรกเริ่ม ในการรักษาสืบต่อถ่ายทอดธรรมประเพณี และข้อคำสอนของชุมชนในอดีตอย่างสัตย์ซื่อ การปรับขยายหรือเปลี่ยนธรรมประเพณีอย่างสร้างสรรค์ กับในบริบท สถานการณ์ใหม่ๆ หรือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป และรับรู้อย่างเหมาะสมกับมุมมองด้านเทววิทยาของพระวรสารนักบุญมัทธิว ซึ่งบ่งแสดงถึงพระเยซูเจ้า ทรงประทับอยู่เคียงข้างพระศาสนจักรของพระองค์ในฐานะครูผู้สอน (Teacher) ตลอดช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์

การวิจารณ์การจัดเรียบเรียง (Redaction Criticism)

การศึกษาว่าผู้นิพนธ์พระวรสารเลือกสรร จัดเรียบเรียง และเสริมแต่งธรรมประเพณีอย่างไรในการเขียนพระวรสาร เรียกว่า การวิจารณ์การจัดเรียบเรียง ในกรณีศึกษาพระวรสารของนักบุญมัทธิว โดยติดตามว่าท่านได้รวบรวมเนื้อหาทั้งหมดขึ้นมาอย่างไรและนำเนื้อหาจากแหล่ง “Q” และพระวรสารนักบุญมาระโกมาเขียนใหม่อย่างไร หรือปรับกระบวนการวิธีการใหม่ๆ ในการตีความหมายในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เช่น การทบทวนตีความเรื่องราวของซามูแอลและบรรดากษัตริย์ในหนังสือพงศาวดาร 1-2 มาเล่าใหม่อย่างน่าเลื่อมใส มีทักษะลีลาและให้จินตภาพที่สื่อความหมายในพระคัมภีร์แบบ Midrashic Imagination อย่างดี เข้าใจได้ การวิเคราะห์แหล่งที่มาจึงตรวจสอบว่าท่านใช้ข้อมูลวัตถุดิบจากแหล่งใดสำหรับเขียนพระวรสาร ในปัจจุบัน โดยใช้วิธีนี้ตรวจสอบแต่ละตอนของเนื้อหา ธรรมประเพณีที่นำมาเขียน ว่ามีที่มาจากแหล่งใด ส่วนการวิจารณ์การจัดเรียบเรียงจะย้อนกลับมามุ่งเน้นที่ความหมายของรูปแบบทั้งหมดในขั้นตอนสุดท้ายของเอกสารทั้งเล่ม โดยพิจารณาเป็นพิเศษถึงแนวโน้มด้านเทววิทยาของผู้เขียนพระวรสาร (Evangelist) ตรวจสอบข้อความที่เพิ่ม ละเว้น และปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระในต้นฉบับ เมื่อศึกษาเพิ่มมากขึ้น พบว่าผู้เขียนพระวรสารได้ปรับเปลี่ยนสถานะจาก ผู้เรียบเรียง เป็นผู้เขียน มากขึ้น ระเบียบวิธีเช่นนี้เรียกว่า “การวิจารณ์การประพันธ์” (Composition Criticism) และมีแนวโน้มปรับลักษณะเป็นแบบกว้างกว่าวิจารณ์วิธีการจัดเรียบเรียง กลายเป็น “วรรณกรรมวิจารณ์” (Literacy Criticism) ดังที่จะกล่าวต่อไป

การวิจารณ์ธรรมประเพณี (Tradition Criticism)

และการศึกษาพระวรสารเชิงประวัติศาสตร์ “สามลักษณะ” เป็นการศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับบริบท สภาพที่ตั้ง (Setting) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวหรือคำกล่าว(สอน) ว่ามีความหมายอย่างไรในยุคสมัยก่อนพระวรสารของนักบุญมัทธิว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวชีวิตของพระเยซูเจ้าและชีวิตของกลุ่มคริสตชนด้วย อาจจะได้เพิ่มสิ่งที่เข้าใจชัดเจนขึ้น แต่บางครั้งเราจำเป็นต้องพิจารณาว่าเรื่องราวหนึ่งหรือคำกล่าวหนึ่งมีความหมายอย่างไร ส่วนการศึกษาวิพากษ์ (Commentary) ของหนังสือเล่มนี้ประสงค์ศึกษาเพื่อเปิดทางสู่ความหมายของเนื้อหาในพระวรสารในเวลาและสถานที่ในยุคสมัยซึ่งนักบุญมัทธิวได้เขียนขึ้น ใช้วิธีตรวจวิเคราะห์จากหลักฐาน วรรณกรรมและแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ซึ่งจะช่วยให้การตีความได้พบความหมาย ความแตกต่างของบริบท สถานการณ์ เนื้อหาสาระในช่วงเวลา ระหว่างชีวิตของพระเยซูเจ้าก่อนการกลับคืนพระชนม์ชีพและความหมายที่เกิดขึ้นหลังการกลับคืนพระชนม์ชีพ ในชีวิตคริสตชนและสังคมศาสนจักรสมัยนักบุญมัทธิว ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องหรือความสำคัญช่วยให้เข้าใจถึงจุดประสงค์ของผู้เขียนหรือสิ่งที่ต้องการสื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ

การวิเคราะห์เพื่อรับรู้ถึงธรรมประเพณีในสมัยของพระเยซูเจ้าจนถึงสมัยที่พระวรสารได้รับการเขียนขึ้น ถือเป็นสิ่งสำคัญในการทำความเข้าใจธรรมชาติและความหมายของรูปแบบทั้งหมดของเนื้อหาคำสอนตามสารบบ พระคัมภีร์ วิธีการที่ใช้บ่อยครั้งในการศึกษา “การวิจารณ์ธรรมประเพณี” จึงตรวจสอบพิจารณาอย่างครอบคลุมถึงธรรมประเพณีทั้งหมด ตั้งแต่สมัยพระเยซูเจ้าจนถึงสมัยที่พระวรสารได้รับการเขียนจนเสร็จสมบูรณ์ และเป็นกระบวนการศึกษาแบบพลวัตร ถึงการเคลื่อนตัวของธรรมประเพณี ทั้งในช่วงการประกาศ(สอน)ข่าวดี การตีความใหม่ และกระบวนการส่งต่อ ถ่ายทอดข่าวดีทั้งหมดในรูปแบบต่างๆ ในยุคสมัยแรกเริ่มที่เกี่ยวข้อง

เราใช้วิธีการตั้งคำถามทางประวัติศาสตร์ “สามลักษณะ” วิเคราะห์กับ “คำกล่าว” ทุกตอน หรือ “เรื่องราว” ทุกเรื่องที่พระวรสารบอกเล่า ได้แก่ 1) ธรรมประเพณีของข้อความตอนนี้บอกอะไรเราเกี่ยวกับชีวิตจริงของเยซูแห่งนาซาเร็ธหรือไม่ หากว่าใช่ แล้วสิ่งนั้นมีความหมายอย่างไรในสถานการณ์แวดล้อมสมัยนั้น 2) ธรรมประเพณีนี้ ได้ถ่ายทอดต่อกันในพระศาสนจักรในสมัยของพระเยซูเจ้าไปจนถึงสมัยที่มีการรวบรวมพระวรสารเป็นคำพูด เป็นงานเขียน หรือว่าทั้งสองรูปแบบ หากเป็นเช่นนั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในยุคสมัยนั้น และมีความหมายอย่างไรในสถานการณ์แวดล้อมนั้น 3) ผู้เขียนพระวรสารได้มีส่วนอย่างไรบ้างในการเขียนรูปแบบทั้งหมด (Final Form) ของพระวารสารนี้ และเนื้อหาสาระทั้งหมดมีความหมายอย่างไรในบริบทของผู้เขียนพระวรสาร ในทางปฏิบัติ กระบวนการทางประวัติศาสตร์ทำให้เราจำเป็นต้องเริ่มจากรูปแบบทั้งหมดของพระวรสารก่อน แล้วย้อนหลังไล่ไปตามลำดับชั้นจนถึงพระเยซูคริสต์ที่อยู่ในประวัติศาสตร์ จากนั้นค่อยเดินหน้าอีกครั้งตามประวัติศาสตร์ของธรรมประเพณีไปจนถึงรูปแบบทั้งหมดของเนื้อหาในพระวรสาร เราสันนิษฐานว่าการออกประกาศข่าวดีของพระเยซูเจ้าสั่งสอนประชาชนน่าจะอยู่ในช่วงปี 30 ศักราชกลาง (Common Era: CE) และพระวรสารนักบุญมัทธิวได้รับการเขียนขึ้นในช่วงปี 90 ศักราชกลาง ดังนั้นผู้อธิบายตีความทุกส่วนของเนื้อหาในพระวรสารนักบุญมัทธิวจึงควรแยกแยะระหว่างความหมายตามแบบของพระเยซูเจ้าในยุคปี 30 ศักราชกลาง ความหมายตามแบบของพระศาสนจักรยุคแรกเริ่มในช่วงปี 30-90 ศักราชกลาง และความหมายตามเนื้อหาและสถานการณ์ในสมัยของนักบุญมัทธิวเองในยุคปี 90 ศักราชกลาง

เมื่อวิเคราะห์เช่นนั้น เราไม่ควรเข้าใจผิดว่าเนื้อหาที่ “แท้จริง” คือส่วนที่ “ย้อนไปถึงสมัยพระเยซูเจ้า” เท่านั้น นักบุญมัทธิวเหมือนกับผู้เขียนพระวรสารท่านอื่นและบุคคลอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนพระคัมภีร์ได้ถ่ายทอดธรรมประเพณี การบอกเล่าแบบปากต่อปากและตีความด้วยการนำไปเล่าใหม่ ปรับเปลี่ยนใหม่ ตัดต่อและขยายบางข้อความ รวมถึงการสร้างเรื่องราวและคำกล่าวใหม่ๆ เนื่องจากนักบุญมัทธิวเป็นชาวยิวคนหนึ่ง ได้มีความรู้พระคัมภีร์อย่างแม่นยำ ซื่อสัตย์ต่อความเชื่อ คำสอนและธรรมบัญญัติ มีชีวิตอยู่ในธรรมประเพณีอันยาวนานของชาวยิวและพระคัมภีร์ไบเบิ้ล จึงสามารถตีความอย่างฉลาดเฉียบแหลม มีหลักเกณฑ์และน่าเชื่อถือสมเหตุสมผล ซึ่งถือเป็นการตีความใหม่แบบถูกต้องตามกฎหมาย ดังที่พบได้จากหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ สามารถนำเรื่องราวในพระคัมภีร์มาเล่าใหม่อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งมีการนำเรื่องราวของหนังสืออพยพ หนังสือพงศาวดารและเรื่องราวของดาวิดมาเล่าใหม่ และทั้งสองกรณีต่างมีการปรับเปลี่ยนและขยายเรื่องราวเหล่านั้น รวมถึงการสร้างคำกล่าวและบทพูดใหม่ๆ ให้กับตัวละครในเนื้อเรื่องด้วย

แม้ว่าการศึกษาพัฒนาการของธรรมประเพณีที่อยู่ “เบื้องหลัง”งานเขียนเชิงประวัติศาสตร์นี้จะมีคุณค่า แต่วัตถุประสงค์และระเบียบวิธีปฏิบัติของการศึกษาคำสอนและสาระที่ประกาศในพระศาสนจักรก็คือเนื้อหาพระคัมภีร์ในรูปแบบที่เป็นเอกสารสารบบพระคัมภีร์ที่ได้รับการรับรองในปัจจุบัน พระวรสารของนักบุญมัทธิวทั้งหมดเป็นเอกสารได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงในฐานะพระคัมภีร์ของพระศาสนจักร ไม่ใช่เพียงแค่รับแบบเรียบๆ ง่ายๆ ว่าเป็นเพียงเอกสารทางประวัติศาสตร์ หรือรับเฉพาะบางส่วนที่มีความ “เป็นประวัติศาสตร์” มากกว่าส่วนอื่นเท่านั้น แต่เป็นเอกสารที่ได้รับการรับรองเนื้อหาทั้งหมด ซึ่งเป็นสารหรือข่าวดีที่พระศาสนจักรประกาศสอนและสื่อสารถึงความหมายของเหตุการณ์เกี่ยวกับพระคริสตเจ้า

การทบทวนตีความเอกสารศักดิ์สิทธิ์และธรรมประเพณี โดยนักบุญมัทธิว (Matthew’s Reinterpretation of Sacred Documents and Traditions)

ท่านนักบุญมัทธิวยึดถือพระคัมภีร์ฉบับภาษาฮีบรูและแนวคิดหลักตามความเชื่อศรัทธาในองค์พระเป็นเจ้าแท้พระองค์เดียว กับธรรมประเพณีอย่างซื่อสัตย์ ซึ่งมีอิทธิพลและคุณประโยชน์ต่อท่านอย่างมาก รวมทั้งจากแนวคิดทางศาสนาที่อยู่ในสมัยเฮเลนนิสติก (Hellenistic Period) แต่งานเขียนของท่านไม่ได้ให้ความสำคัญและสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลทางวรรณกรรมจากงานเขียนของคนต่างศาสนาเลย สิ่งที่ท่านอ่านดูเหมือนจะจำกัดอยู่เพียงเอกสารทางศาสนาของชาวคริสต์และชาวยิวเท่านั้น

แหล่งข้อมูลของชาวยิว (Jewish Sources)

เอกสารชุดหนึ่งที่เราอาจแน่ใจได้ว่ามีอยู่ในชุมชนของนักบุญมัทธิวและมีอิทธิพลอย่างล้ำลึกต่อการเขียนพระวรสารของท่านคือ พระคัมภีร์ฉบับเจ็ดสิบ LXX จากพระวรสารแม้พบว่ามีความตึงเครียดระหว่างนักบุญมัทธิวและชุมชนชาวยิว แต่ไม่ได้ส่งผลให้ท่านสนใจคัมภีร์ของชาวยิว(ฉบับภาษาฮีบรู)น้อยลง ในทางตรงข้าม ท่านกลับใส่ใจที่จะแสดงให้เห็นว่าท่านซื่อสัตย์และเข้าใจพระคัมภีร์ศาสนาของชาวยิวอย่างแตกฉาน และสามารถตีความอธิบายอย่างเข้าถึงความหมายอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ได้อย่างดีโดยพระเยซูคริสต์และในคำสอนของพระศาสนจักรของพระเยซูเจ้า (ดูบทเสริมเรื่อง (excursus) “มัทธิวในฐานะผู้ตีความคัมภีร์ศาสนา” หน้า 151 – 154 ซึ่งจะเป็นการอภิปรายเกี่ยวกับเนื้อหา ภาษาและรูปแบบตัวบท ของเนื้อหาพระคัมภีร์ที่มีในสมัยของนักบุญมัทธิว รวมถึงวัตถุประสงค์และวิธีการที่นักบุญมัทธิวนำพระคัมภีร์ศาสนามาใช้)

พระวรสารนักบุญมัทธิวไม่มีการยกข้อความโดยตรงมาจากพระคัมภีร์นอกสารบบหรือพระคัมภีร์สารบบที่สอง (Apocryphal/ Deuterocanonical Books) หรืองานเขียนอื่นๆ ที่อยู่นอกฉบับภาษาฮีบรู (Hebrew Canon) แต่ถึงกระนั้นก็เห็นได้ชัดว่านักบุญมัทธิวคุ้นเคยกับแนวคิดและข้อความที่ใช้ในพระคัมภีร์สารบบที่สองและหนังสือในกลุ่มงานเขียนนอกสารบบ (Pseudepigraphal Writings) เห็นได้จากการที่ในพระวรสารมีการพาดพิงถึงเอกสารเหล่านั้นถึง 78 ครั้ง (มีการอ้างถึงพระคัมภีร์นอกสารบบ 58 ครั้ง อ้างถึงเนื้อหาจากงานเขียนนอกแบบบัญญัติ (Extra-canonical) 20 ครั้ง เช่น มัคคาบี 4 ครั้งและเอโนค 1 ครั้ง)

แหล่งข้อมูลของชาวคริสต์ (Christian Sources)

จดหมายของนักบุญเปาโลและธรรมประเพณีที่สืบเนื่องมา บางครั้งมีผู้ให้ความเห็นว่านักบุญมัทธิวรู้จักและตอบรับแนวคิดของท่านนักบุญเปาโลและการตีความศาสนาคริสต์ตามคำสอนของนักบุญเปาโล (เช่นใน 5:19) หรือบ้างก็บอกว่านักบุญมัทธิวได้อ่านจดหมายของนักบุญเปาโลและได้รับอิทธิพลจากจดหมายเหล่านั้นอย่างมาก และแม้ว่าพระวรสารจะเขียนขึ้นที่เมืองอันติโอค (Antioch) หรือบริเวณใกล้เคียง (โปรดดูด้านล่าง) ที่ซึ่งนักบุญเปาโลเคยประกาศสอน (กท. 2:11, กจ. 13:1, 14:26, 15:22) แต่อิทธิพลระยะยาวของนักบุญเปาโลมีต่อเมืองอันติโอคน้อยมาก ซึ่งแทบจะไม่มีผลกระทบต่อศาสนาคริสต์ในชุมชนของนักบุญมัทธิว และไม่มีข้อบ่งชี้ให้เห็นว่างานเขียนของนักบุญมัทธิวได้รับอิทธิพลเชิงวรรณกรรมจากสาระคำสอนของนักบุญเปาโลเลย

บันทึกรวบรวมคำบอกเล่าจากแหล่ง “Q9

ซึ่งเป็นแหล่งหลักฐานสำคัญที่ค้นพบม้วนแผ่นหนังจารึกพระคัมภีร์ และฉบับที่เขียนเป็นลายมือ (Manuscripts) นับตั้งแต่ช่วงต้นของประวัติศาสตร์พระศาสนจักรในสมัยนักบุญมัทธิวหรืออาจจะนับตั้งแต่เริ่มค้นพบแหล่ง “Q” ซึ่งเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ในธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน สันนิษฐานว่ามีการนำเอกสารนี้มาอ่านประกอบพิธีบูชาในหมู่คณะของนักบุญมัทธิวสมัยนั้น และได้จัดรูปแบบและยึดถือเป็นหลักความประพฤติ (Ethos) ตามธรรมประเพณีคริสตชนในสมัยนักบุญมัทธิว แหล่ง “Q” ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งข้อมูลเดียวสำหรับนักบุญมัทธิวผู้เขียนพระวรสาร แต่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ท่านมีส่วนร่วมด้วย เอกสารนี้ยอมรับความเที่ยงตรงของลักษณะทางกฎหมายของศาสนาคริสต์ในหมู่ชาวยิวในยุคเริ่มแรก (cf. Q 16:17 =มธ. 5:18) นักบุญมัทธิวให้ความเคารพเอกสารจากแหล่ง Q เมื่อเกิดความทับซ้อนขึ้นระหว่างเนื้อหาพระวรสารนักบุญมาระโกกับเอกสารแหล่ง Q ท่านจะเลือกใช้เอกสารแหล่ง Q ซึ่งเก่าแก่กว่าและถูกต้องแม่นยำกว่า (ดู 10:10 = ลก. 10:4; cf. มก. 6:8-9) 

นักบุญมัทธิวได้ดำเนินการทบทวนการตีความเอกสารแหล่ง Q อย่างมาก ไม่ใช่เพียงแค่ปรับเปลี่ยนเนื้อหา (เพียงเล็กน้อย)ในเอกสารนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมประเพณีในพระศาสนจักรสมัยของท่าน แต่หลักๆ ก็คือการผสานเนื้อหาจากแหล่ง Q เสริมความเข้าไปในโครงสร้างการบรรยายเรื่องของพระวรสารนักบุญมาระโก อาจเป็นเพราะเอกสารแหล่ง Q รูปแบบดั้งเดิมเป็นเอกสารที่ไม่แน่นอนตายตัว มีการเพิ่มขยายเนื้อหาอยู่ตลอด พร้อมที่จะขยายเพิ่มขึ้นอีก เมื่อมี “คำกล่าวของพระเยซูเจ้าผู้ฟื้นคืนพระชนม์ชีพ” ใหม่ๆ จากผู้ประกาศสอน(ข่าวดี)ชาวคริสต์ การนำเนื้อหาเอกสารนี้ผสานใส่เข้าไปในโครงสร้างเรื่องราวก่อนการฟื้นคืนพระชนม์ชีพในคำบรรยายของพระวรสารนักบุญมาระโก ทำให้นักบุญมัทธิวสามารถเก็บรักษาคำพูดที่พระเยซูคริสต์ได้กล่าวไว้กับพระศาสนจักรในเอกสารแหล่ง Q และป้องกันการเพิ่มเติมอย่างอิสระเป็นการจำกัดวงไว้ภายในข้อเท็จจริงหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของพระเยซูเจ้าช่วงก่อนการกลับคืนพระชนม์ชีพ

พระวรสารนักบุญมาระโก (The Gospel of Mark)

ในช่วงเวลาหนึ่งหลังศักราชสากลที่ 70 (C.E.) พระวรสารนักบุญมาระโกได้มีผู้ประกาศเผยแผ่มาถึงชุมชนของนักบุญมัทธิว และได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนประกอบของธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน(คริสตชน) ซึ่งได้นำมาใช้ในชีวิตของประชาชนและพิธีบูชา เดิมพระวรสารนักบุญมาระโกได้เขียนขึ้นในชุมชนชาวคริสต์ และใช้สอนกันในชุมชนชาวคริสต์ที่เป็นคนต่างศาสนา (Gentile-Christian) ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ธรรมบัญญัติหรือพระคัมภีร์ปัญจบรรพ10 (Torah) (มก. 7:1-23) ชุมชนชาวยิวที่นับถือศาสนาคริสต์สมัยนักบุญมัทธิวได้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ไปยังคนต่างศาสนา และได้เปิดตัวรับฟังข้อคิดมุมมองจากศาสนาคริสต์ของชนต่างชาติเหล่านั้น เป็นเหตุให้คำบรรยายในพระวรสารนักบุญมาระโกได้กลายมาเป็นพื้นฐานของการบอกเล่าเรื่องราวของพระเยซูคริสต์ในพระศาสนจักรสมัยนักบุญมัทธิว รวมถึงบอกสาระแนวปฏิบัติต่างๆ ที่พระวรสารนี้มุ่งเน้น เช่น พระเยซูเจ้าผู้ทำปาฏิหาริย์ พระเยซูเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขนและกลับคืนพระชนม์ชีพ พระเยซูเจ้าผู้เริ่มต้นภารกิจเผยแพร่ข่าวดีไปสู่ชนต่างชาติ หากพระวรสารนักบุญมาระโกมีความเกี่ยวข้องกับนักบุญเปโตรอยู่แล้ว ก็เป็นการเน้นย้ำความสำคัญของนักบุญเปโตรในฐานะของผู้นำของอัครสาวกและเป็นประจักษ์พยานสำคัญ ซึ่งสิ่งนี้มีปรากฏอยู่ในธรรมประเพณีสายของนักบุญมัทธิวด้วย และเอื้อให้เกิดการยอมรับพระวรสารนักบุญมาระโกในฐานะเป็นตัวบทที่เป็นบรรทัดฐานให้กับพระศาสนจักรสมัยนักบุญมัทธิว ท่านนักบุญมัทธิวไม่เพียงแต่รวมเอกสารแหล่ง Q และพระวรสารนักบุญมาระโกเข้าด้วยกันเท่านั้น แต่ยังสร้างพื้นฐานเทคนิควิธีการบรรยายเรื่องแบบพระวรสารนักบุญมาระโก (Markan Narrative Basic) โดยผสานใส่เนื้อหาจากเอกสารแหล่ง Q และแหล่ง M ลงไปในเค้าโครงเรื่องของพระวรสารนักบุญมาระโก ในลักษณะเนื้อหาย่อยระดับรองๆ ลงมา ดังนี้ พระวรสารนักบุญมัทธิวจึงเป็นงานเขียนของการตีความใหม่และใส่รายละเอียดเพิ่มเติม(ผสาน)ลงไปในเรื่องเล่าจากพระวรสารนักบุญมาระโก ไม่ใช่เพิ่มในเอกสารแหล่ง Q

เนื้อหาและขนบธรรมเนียมพิเศษสมัยนักบุญมัทธิว แหล่ง (“M”)

นอกจากเอกสารแหล่ง Q และพระวรสารนักบุญมาระโกแล้ว นักบุญมัทธิวได้ยึดถือตามขนบธรรมเนียมและเนื้อหาข้อมูลต่างๆ ที่เฉพาะเจาะจงอยู่ในชุมชนของตน “M” ซึ่งไม่ใช่เป็นเอกสารที่แยกออกมาต่างหาก แต่หมายถึงตัวเนื้อหาของธรรมประเพณีต่างๆ ในสมัยของนักบุญมัทธิว และเนื่องจากขนบธรรมเนียมเหล่านี้สืบทอดต่อกันมาในพระศาสนจักรท้องถิ่น ซึ่งมีส่วนในการพัฒนาทางเทววิทยาของนักบุญมัทธิว บางครั้งจึงยากที่จะแยกแยะระหว่างธรรมประเพณี M กับสิ่งที่นักบุญมัทธิวดัดแปลงแก้ไขเอง แหล่ง M อาจประกอบด้วยข้อความต่างๆ ที่ยกมาจากคัมภีร์ศาสนาซึ่งเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับความรู้ทางเทววิทยาของนักบุญมัทธิว, คำพยานต่างๆ, การตีความของชาวคริสต์เกี่ยวกับข้อความที่ยกมาเหล่านั้น, ความคิดเห็นเชิงการตีความและพัฒนาการของเอกสารแหล่ง Q,   ตัวบทพระวรสารนักบุญมาระโก และสิ่งสาระอื่นในขนบธรรมเนียมชาวคริสต์ รวมถึงคำกล่าวและเรื่องราวที่มาจากพระเยซูเจ้าหรือเกี่ยวข้องกับพระเยซู ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของธรรมประเพณีสมัยนักบุญมัทธิว แม้ว่าส่วนเล็กๆ เหล่านี้อาจได้เขียนขึ้นมาก่อนหน้าสมัยนักบุญมัทธิว แต่ส่วนใหญ่แล้ว(แต่ไม่ใช่ทั้งหมด)เป็นการสืบทอดแบบเล่าต่อๆ กันมา ประมาณหนึ่งชั่วอายุคนหรือมากกว่านั้นก่อนสมัยของนักบุญมัทธิว บ่อยครั้งเป็นไปได้ที่พบว่าเนื้อหาเหล่านี้ผ่านการปรับเปลี่ยน แก้ไข และขยายเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ๆ แต่บางครั้งได้คงรักษารูปแบบดั้งเดิมของธรรมประเพณีไว้อย่างเที่ยงตรงจนน่าทึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมประเพณีที่ยอมรับศาสนาคริสต์ของชาวยิวที่ยึดมั่นตามหลักของธรรมบัญญัติ ในชุดหนังสือปัญจบรรพ (Torah)

การใช้ธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์ของนักบุญมัทธิวและชุมชนของมัทธิว (Matthew and His Community’s Use of This Sacred Tradition)

นักบุญมัทธิวเป็นผู้รู้เข้าใจในตัวบทของงานเขียนและธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของชุมชนอย่างแตกฉาน และให้ความเคารพใส่ใจอย่างถ่องแท้จริงจังกับแหล่งข้อมูลเหล่านั้นทั้งหมด แต่ท่านเพียงใช้เป็นข้ออ้างอิง ไม่ได้ผูกมัดหรือยึดติดกับสิ่งใด นักบุญมัทธิวคุ้นเคยกับคัมภีร์ของศาสนายิวมากพอที่จะกล่าวอ้างอิงถึงเนื้อหาเหล่านั้นโดยที่ไม่ต้องดึงความสนใจของผู้อ่านไปที่งานเขียนนั้นโดยตรง (ดูบทเสริมเรื่อง “นักบุญมัทธิวในฐานะผู้ตีความพระคัมภีร์” 151-154)  ดังนั้นทั้งเอกสารแหล่ง Q พระวรสารนักบุญมาระโก และแหล่ง M ต่างมีส่วนในการเป็นพื้นฐานห่อหุ้มหล่อหลอมจนเป็นเนื้อหาเดียวกันให้กับพระวรสารของนักบุญมัทธิวทั้งสิ้น การนำเอกสารแหล่ง Q และพระวรสารนักบุญมาระโกมาใช้นั้น จึงเป็นการเขียนซึ่งห่างไกลจากคำว่า “ตัดแปะ” ที่ใช้เป็น “แหล่งข้อมูล” เพราะจิตใจของนักบุญมัทธิวนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยเนื้อหาจากเอกสารทั้งสองจนสามารถกล่าวถึงได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งในส่วนที่ไม่ได้นำมา “ใช้” โดยตรง ดังนี้ ข้อความจากพระวรสารนักบุญมาระโกจึงได้บูรณาการเข้าไปสู่เนื้อหาในเอกสาร Q และในทางกลับกันด้วย ข้อความหนึ่งจากเอกสารแหล่ง Q กลายมาเป็นข้อความจากพระวรสารนักบุญมัทธิวที่ใครๆ ต่างรู้จักกันดี และเมื่อนำมาใช้บ่อยครั้งในบทความตอนอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเอกสารแหล่ง Q  ความจริงวิธีการและกระบวนการเช่นนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่เราควรทราบว่าตัวบทต่างๆ และวิธีการตีความผสานเพิ่มเติมนี้เป็นเทคนิคการทบทวนตีความที่ได้ใช้กันในพระศาสนจักรของนักบุญมัทธิวมานานหลายสิบปีแล้วก่อนที่จะมีตัวหนังสือพระวรสาร และไม่ได้มีเพียงนักบุญมัทธิวผู้เดียวเท่านั้น ผู้ฟังหรือผู้อ่านของท่านต่างคุ้นเคยใกล้ชิดกับงานเขียนลักษณะนี้เป็นอย่างดี แสดงว่านักบุญมัทธิวเขียนพระวรสารนี้ขึ้นมาให้กับผู้อ่านที่รู้จักคุ้นเคยเรื่องเหล่านี้มาก่อน

ความรู้ทั่วไป