โครงสร้างและผู้นำ (Structure and Leadership)

ในการศึกษาพระคัมภีร์และพระวรสารอย่างเป็นองค์รวมและอย่างเป็นระบบ ต้องศึกษาองค์ประกอบทุกด้านที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การวิเคราะห์บริบท สภาพลักษณะของสถานที่ตั้ง (Places) ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สภาพแวดล้อมและสถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ศึกษาสภาพของประชาชน หมู่คณะ ชุมชนและบุคคล (People) ที่เกี่ยวข้องกับภาวะผู้นำของบุคคลสำคัญ เช่นคณะอัครสาวก กลุ่มผู้นำชาวยิว ฯลฯ และหนังสือพระคัมภีร์ (Bible) กับเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รูปแบบวรรณกรรมและลักษณะการประพันธ์ เจาะลึกลงไปถึงเทววิทยาหรือแนวคิดที่เกี่ยวข้องในยุคสมัยนั้นด้วย

โครงร่างคร่าวๆ ของพระวรสารนักบุญมัทธิวเป็นเรื่องเล่าเริ่มต้นจากลำดับวงศ์ตระกูลของพระเยซูเจ้าแสดงถึงการสืบเชื้อสายตามพระสัญญาจากตระกูลของกษัตริย์ดาวิด การประสูติของพระเยซูเจ้า การแสดงองค์แก่นานาชาติ และประวัติสั้นๆ ในระยะเตรียมสู่พันธกิจของพระเยซูเจ้าในฐานะพระเมสสิยาห์ การประกาศข่าวดีทั้งโดยพระวาจาและการปฏิบัติกิจการแห่งการไถ่กู้ (Messiah in Word and Deeds) พันธกิจที่พระองค์ทรงกระทำยืนยันว่าพระองค์ทรงเป็นโมเสสใหม่ แต่ยิ่งใหญ่กว่า ทรงเป็นบุตรแห่งมนุษย์และพระบุตรของพระเป็นเจ้า ทรงนำพามนุษย์ทุกคนสู่ความรอดพ้น เน้นแสดงว่าพระประสงค์ของพระเป็นเจ้าเป็นแก่นหลักสำคัญแห่งชีวิตและกิจการทั้งปวง ทรงนำพามนุษย์รู้จักพระบิดาและพระประสงค์ของพระองค์ ซึ่งเปิดเผยโดยทางองค์พระบุตรแต่เพียงพระองค์เดียว คือพระองค์พระเยซูคริสตเจ้า ไปจนถึงชีวิตที่ทรงนบนอบต่อพระเป็นเจ้า แม้กระทั่งยอมรับความตายบนไม้กางเขน แล้วทรงกลับคืนพระชนม์ชีพและทรงประจักษ์แสดงพระองค์ต่อบรรดาศิษย์ พร้อมกับทรงบัญชามอบหมายให้บรรดาศิษย์สืบสานพันธกิจต่อจากพระองค์ในโลกนี้ เพื่อนำพระพรและข่าวดีแห่งความรอดพ้นมาสู่มนุษย์ชาติอย่างสมบูรณ์ พระวรสารได้จบลงถึงตอนนี้ ไม่ได้เล่าเรื่องต่อไปจนถึงพระศาสนจักรหลังการกลับคืนพระชนม์ชีพ

พระวรสารนักบุญมัทธิวสื่อสารถึงคุณลักษณะของวิถีชีวิตของพระศาสนจักรในทางตรงและโดยทางอ้อม ในลักษณะต่างกัน พอจำแนกได้ดังนี้

1. เป็นกระบวนการเล่าเรื่องของพระเยซูเจ้าในความหมายทางคริสตศาสตร์ (Christology) พระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ ตามพระสัญญาผู้ที่จะเสด็จมาไถ่กู้มนุษย์ให้รอดพ้นจากบาป ดังที่มีกล่าวพยากรณ์ไว้ในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม และในฐานะพระบุตรของพระเป็นเจ้า ผู้ทรงทำให้พระสัญญาเป็นจริงและสำเร็จบริบูรณ์ (Fulfillment) และทรงนำความรอดพ้นมาสู่มนุษย์และโลก

2. มุ่งเน้นความหมายด้านเทววิทยา พระอาณาจักรของพระเป็นเจ้ามาใกล้แล้ว (Incarnation Theology) พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเป็นเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ ทรงประกาศสอนให้มนุษย์รู้จักพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า ผ่านทางคำสอนแห่งพันธสัญญาเดิม คือ ธรรมบัญญัติและคำสอนของบรรดาประกาศก ทรงเป็นประกาศกผู้ยิ่งใหญ่ทรงอยู่เหนือกว่าธรรมบัญญัติ และทรงยิ่งใหญ่กว่าบรรดาประกาศก พระองค์ทรงเป็นหนทาง ความจริงและชีวิต มนุษย์จะได้รับความรอดพ้นได้โดยทางพระวาจา(คำสอน)และการปฏิบัติติดตามพระเยซูเจ้า ผู้ทรงสอนและทรงเป็นแบบอย่างนำพาสู่อาณาจักรของพระเป็นเจ้า ชีวิตที่ดีและครบสมบูรณ์คือชีวิตที่ปฏิบัติตนตามพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า

3. มุ่งเน้นด้านความเป็นมนุษย์และจิตวิทยามนุษย์กับจิตวิทยากลุ่มหรือชุมชน มนุษย์ผู้ปฏิบัติโดยการติดตามพระเยซูเจ้า คือมนุษย์สามารถนำพาชีวิตสู่แสงสว่างแห่งความจริงในหนทางของพระเจ้า คือการติดตามพระเยซูเจ้า นำตนเองผ่านหรือก้าวพ้น ชำระตนเองตามหนทางและแบบอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงแสดง เป็นภาวะชีวิตมนุษย์ในลักษณะเน้นความเป็นมนุษย์ (Anthropological, Human & Psychological aspects) ซึ่งต้องประสบกับข้อทดสอบชีวิต ปัญหาอุปสรรค ความทุกข์ยากลำบากอันเนื่องมาจากบาปกำเนิด และความตาย ซึ่งนักบุญมัทธิวเล่าเป็นลักษณะข้อขัดแย้งและอุปสรรคทดลองตรวจสอบชีวิตเพื่อรูปแบบชีวิตและชุมชนที่ดีกว่า เกิดขึ้นในสองลักษณะคือ (1) พระเยซูเจ้าทรงทำนายและบรรยายเกี่ยวกับสถานการณ์ของพระศาสนจักรที่จะเกิดขึ้นไว้ตั้งแต่ก่อนการกลับคืนพระชนม์ชีพ และ (2) เรื่องราวของพระเยซูเจ้าและบรรดาศิษย์ของพระองค์ประสบกับข้อขัดแย้ง ข้อทดสอบต่างๆ เป็นระยะ ทั้งจากปีศาจ มาร หรือตัวแทนของปีศาจ หรืออาณาจักรแห่งความชั่วร้ายและความตายที่ปีศาจนำมา เป็นเรื่องเล่าในสองลักษณะพร้อมๆ กัน ที่บอกเป็นนัยๆ ว่าสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงประสบนั้น เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับบรรดาศิษย์ รวมทั้งบรรดาศิษย์แห่งชุมชนสมัยนักบุญมัทธิว เช่นกัน และคำตอบนั้นมนุษย์สามารถพบได้ในองค์พระเยซูเจ้าและพระวาจาของพระองค์ ดังนั้นกรอบการเล่าเรื่องราวก่อนสมัยการกลับคืนพระชนม์ชีพ (Pre-Easter Framework) ผู้เล่าจงใจสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ของพระศาสนจักรหลังการกลับคืนพระชนม์ชีพว่าได้เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน แต่ต่างสถานการณ์ ต่างรูปแบบและรายละเอียดต่างกันไปตามยุคสมัยและบุคคล รวมถึงชีวิตที่เป็นพยานยืนยันแสดงตนมีความศรัทธาในพระเยซูคริสต์ในฐานะพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพและได้รับการยกสู่สวรรค์ ต้องประสบและผ่านภาวการณ์ทดลองเช่นกัน

ผู้ตีความต้องศึกษาและติดตามพระเยซูเจ้าไปพร้อมกับบรรดาศิษย์ โดยเฉพาะนักบุญเปโตรกับบรรดาอัครสาวก (The Twelve) ผู้ได้เดินตาม มองดูพระเยซูเจ้าอย่างใกล้ชิด อยู่กับพระองค์ ตอบรับและซักถามสนทนากับพระองค์ ทั้งในช่วงเวลาที่ทรงประกาศเทศน์สอน ทรงกระทำกิจการรักษาและช่วยเหลือประชาชน ได้สังเกตเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นหรือพฤติกรรมที่แสดงเจตคติที่เปิดเผยให้รู้เห็นได้ จากการภาวนาที่ทรงปฏิบัติให้บรรดาศิษย์ทั้งในยามปกติและในช่วงเวลาวิกฤติ เช่น การภาวนาในสวนเก็ทเซมนี ช่วงเวลาที่ทรงรับมหาทรมาน รวมทั้งได้รับรู้สัมผัสกับบริบท สิ่งแวดล้อม บรรยากาศ ปฏิกิริยาของประชาชน ดังเหตุการณ์และสิ่งที่เล่าในพระวรสารนักบุญมัทธิว ตามที่ท่านนักบุญมัทธิวได้ทบทวนตีความและประมวลนำเสนอในมุมมองที่แตกต่าง จากมุมมองที่เน้นคุณค่าและความสำคัญของธรรมบัญญัติ มาเป็นมุมมองที่เน้นพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า ดังในคำอธิบายตีความใน มธ. 6-7 เป็นลักษณะการตีความมิใช่นิ่งอยู่ตามความหมายของตัวอักษร แต่ลึกเข้าไปในความหมายแห่งชีวิต ผ่านมิติด้านร่างกาย ด้านจิตใจ อารมณ์สังคม สู่ภาวะจิตใจและจิตวิญญาณในความบริสุทธิ์ ความดีและความจริงครบถ้วนสมบูรณ์ดังพระบิดาเจ้าสวรรค์ ผู้ทรงเป็นองค์ความดีบริบูรณ์ (มธ. 5: 48)

เปโตร บรรดาอัครสาวก และศิษย์ (Peter, Apostles, and Disciples)

บ่อยครั้งบรรดาศิษย์หรือผู้ติดตามพระเยซู (Disciples) ภายหลังได้รับชื่อหรือขนานนามว่า ชุมชนชาวคริสต์หลังการกลับคืนพระชนม์ชีพ (ตัวอย่างเช่นใน 10:17-42; 18:15-20) นักบุญมัทธิวมองว่าศิษย์ทั้งหมดคือกลุ่มชนที่ให้สัจจะกับตนเองว่าจะติดตามพระเยซูเจ้า (8:21; 9:14; 10:25; 42; 12:49; 27:57; 28:19) และภายในกลุ่มคนเหล่านี้จะมีคณะสิบสองคนผู้เป็นแกนกลางหรือสัญลักษณ์ตัวแทนของผู้นำในปัจจุบันและผู้ตัดสินประชากรของพระผู้เป็นเจ้าในอนาคต (19:28) ส่วนคำว่า “อัครสาวก” (Apostles) ไม่ได้เป็นคำสำคัญสำหรับนักบุญมัทธิว เพราะท่านใช้คำนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น (10:2) และใช้ในความหมายเดียวกับคำว่าสาวก (10:1) ยกเว้นใน 10:2 นักบุญมัทธิวจะกล่าวเสมอถึงกลุ่มแกนกลางนี้ว่า “ศิษย์ทั้งสิบสอง” (the Twelve Disciples) (10:1; 11:1; 20:17) หรือ “คณะสิบสอง” (the Twelve) (10:5; 26:14, 20, 47)

ภายในกลุ่มสิบสองคนนี้ นักบุญเปโตรมีบทบาทที่เป็นสัญลักษณ์และโดดเด่น นักบุญมัทธิวได้ปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมธรรมประเพณีของท่าน ในการเน้นบทบาทพิเศษของนักบุญเปโตร (10:2; 14:22-33; 15:15; 16:16-19; 17:24-27) นักบุญเปโตรเป็นตัวแทนของศิษย์ทั้งสิบสองคน และทั้งสิบสองคนก็เป็นตัวแทนของศิษย์ทั้งหมด และหลายครั้งเรื่องราวได้แสดงภาพให้เห็นชัดเจนถึงศิษย์ทั้งหมดในยุคหลังการกลับคืนพระชนม์ชีพ ทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจนักบุญเปโตรและศิษย์คนอื่นๆ ได้ แต่ความสำคัญของนักบุญเปโตรในพระวรสารนักบุญมัทธิวไม่ได้มีความหมายลดทอนมาเป็นแค่รหัสที่สื่อถึง “ศิษย์สิบสองคน” หรือพระศาสนจักรทั้งหมด แต่เพราะท่านคือผู้ที่พระองค์เรียกมาก่อนผู้อื่นและได้รับตำแหน่งว่าเป็น “คนลำดับแรก” (10:2 เสริมขึ้นมาจากพระวรสารนักบุญมาระโก) บทบาทของท่านได้แสดงเอกลักษณ์ในการวางรากฐานและอภิบาลดูแลชุนชนชาวคริสต์ และท่านได้รับการเปิดเผยพิเศษเกี่ยวกับพระคริสต์จากองค์พระผู้เป็นเจ้า ได้รับการกล่าวอวยพรจากพระเยซูเจ้าในแบบที่ไม่เหมือนใคร และมีความรับผิดชอบพิเศษซึ่งไม่อาจมีใครทำซ้ำได้ในการก่อตั้งสร้างพระศาสนจักร (ดูข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ 16:17-19)

นักบุญเปโตรเคยไปที่เมืองอันติโอค (กท. 2:11) ซึ่งอาจเป็นจุดกำเนิดหรือสถานที่เขียนของพระวรสาร และในธรรมประเพณียุคต่อมาก็ถือกันว่านักบุญเปโตรเป็นอัครสาวกองค์อุปถัมภ์ของพระศาสนจักรในเมืองนั้นและเป็นพระสังฆราชองค์แรกด้วย ธรรมประเพณีแบบนักบุญเปโตรและชาวคริสต์สายนักบุญเปโตร (Petrine Traditions and Petrine Christians) อาจมีบทบาทในประวัติศาสตร์ช่วงแรกของชุมชนชาวคริสต์ของนักบุญมัทธิว และเป็นที่ยอมรับว่าธรรมประเพณี M ได้รับการสืบสานมาจากนักบุญเปโตรหรือมีความเกี่ยวข้องกับท่านเป็นพิเศษ หากพระวรสารนักบุญมาระโกมีความเกี่ยวข้องกับนักบุญเปโตรอยู่แล้วในขณะที่ชุมชนของนักบุญมัทธิวยอมรับพระวรสารนั้น ก็จะยิ่งเป็นการสนับสนุนการยอมรับและความโดดเด่นของนักบุญเปโตร ในธรรมประเพณีสายนักบุญมัทธิว ว่า นักบุญเปโตรได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นภาพลักษณ์ตัวแทนของอัครสาวก เช่นเดียวกับนักบุญเปาโลในธรรมประเพณีสายนักบุญเปาโล (Deutero-Pauline Stream), ศิษย์ผู้เป็นที่รัก (The Beloved Disciple) ในสายของนักบุญยอห์น (Johanine Stream) และนักบุญยากอบในแวดวงกลุ่มอื่นๆ ข้อสังเกตคือ ดูเหมือนพระศาสนจักรของนักบุญมัทธิวจะเป็นชุมชนที่สืบสานมาจากสายของนักบุญเปโตร มากกว่าทางสายของนักบุญเปาโล หรือนักบุญยอห์น หรือนักบุญยากอบ (นักบุญมัทธิวอยู่ห่างจากศาสนาคริสต์สายนักบุญเปาโลและนักบุญยอห์น  ส่วนนักบุญยากอบ น้องชายของพระเยซูเจ้า ไม่มีบทบาทใดๆ เลยในเรื่องราวที่นักบุญมัทธิวบันทึก) ต่อมาศาสนาคริสต์ในสายของนักบุญเปโตรที่อยู่ในหนังสือ Apocalypes of Peter โดย นักฮัมมาดี (Nag Hammadi) ได้ยึดพระวรสารนักบุญมัทธิวเป็นแหล่งของคำสอนและใช้คำศัพท์จากพระวรสารนี้ในการอธิบาย เช่น คำว่า “คนเล็กน้อย-ต่ำต้อย” (Little Ones)

พระวรสารนี้จะเป็นหลักเกณฑ์ระเบียบคำสั่งของศาสนบริการของพระศาสนจักร (Order of Ministry) “อย่างเป็นทางการ” หรือไม่? อาจจะฟังดูน่าตกใจที่ว่าพระวรสารที่ “ยึดตามหลักพระศาสนจักรมากที่สุด” (Most Ecclesiastical) ไม่ได้มีส่วนใดในพระวรสารอ้างถึงโครงสร้างของคณะสงฆ์ศาสนบริการอย่างเป็นทางการ (Formal Ministerial Structures) เลย ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ไม่มีการกล่าวถึงพระสังฆราชหรือสังฆานุกรใดๆ ซึ่งน่าแปลกมาก โดยเฉพาะ ถ้าผู้เขียนพระวรสารนั้นได้เขียนขึ้นในเมืองอันติโอคหรือบริเวณใกล้เคียง เพราะเพียงสองสามปีหลังจากนั้น ท่านอิกนาติอุสแห่งอันติโอคได้ให้เหตุผลสนับสนุนอย่างหนักแน่นในการจัดตั้งคณะสังฆราชแห่งพระมหากษัตริย์ เพื่อเป็นธรรมประเพณีปฏิบัติสำหรับการปกครองพระศาสนจักร และสถานภาพเช่นนี้ก็ดำรงอยู่ในธรรมประเพณีของนักบุญมัทธิวอย่างเห็นได้ชัดเจน และมีการนำมาใช้ปฏิบัติในพระวรสารนักบุญมัทธิวด้วย (Ign. Eph. 19:1-3; Ign. Myyrn.1:1 = มัทธิว 3:15; Ign. Phld. 3:1 = มัทธิว 15:13; Ign. Pol. 2:2) ในลักษณะเดียวกันหนังสือคำสอนดั้งเดิม “ดีดาเค” (Didache) ซึ่งมีใช้อยู่ในธรรมประเพณีของนักบุญมัทธิวด้วย ได้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนจากคณะศาสนบริกรผู้มีพระพรพิเศษ (Charismatic Ministry) กลายเป็นโครงสร้างแบบแผนที่เป็นทางการซึ่งมีพระสังฆราชและสังฆานุกร และมีปรากฎใช้ในธรรมประเพณีของนักบุญมัทธิวในช่วงต้นๆของแนววิถีประวัติศาสตร์ที่นำไปสู่คำสอนของนักบุญอิกญาซีโอและหนังสือคำสอนดั้งเดิม (Didache) แต่ว่ามีอยู่ก่อนการพัฒนาองค์กรทางศาสนาต่างๆ อย่างเป็นทางการ การที่สมาชิกบางคนในชุมชนของนักบุญมัทธิวเริ่มอ้างสิทธิในองค์กรและตำแหน่งต่างๆ ที่ศาสนายูดายยุคแรกเริ่มได้ยึดนำมาปฏิบัติใช้และให้มีอำนาจหน้าที่และบทบาทตำแหน่งที่เป็นทางการมากกว่าสมัยก่อน (ตำแหน่ง “รับบี” “บิดา” “อาจารย์”) ทำให้เห็นได้ชัดว่าพระวรสารต่อต้านแนวโน้มการปฏิบัติเช่นนั้น (23:8-12)

ภาวะผู้นำในพระศาสนจักรสมัยนักบุญมัทธิว (Leadership in Matthean Church)

ชุมชนของนักบุญมัทธิวดูเหมือนจะมีประกาศก (Prophets) อยู่ในกลุ่มของผู้นำด้วย เขาอาจจะเป็นผู้นำหลักของชุมชน เช่นเดียวกับยุคเริ่มแรกของชุมชนตามที่มีการกล่าวไว้ในหนังสือคำสอนดีดาเค (เทียบ มัทธิว 5:12 ไปสู่ ลูกา 6:23;  มัทธิว 10:41; 23-34 หรือแม้แต่ 7: 21-22 ก็ยังสันนิษฐานว่ามีประกาศก “ที่ดี” ในชุมชน) ประกาศกเหล่านี้ดูจะเป็นบุคคลที่มีพระพรพิเศษและได้รับการเผยแสดงและถ่ายทอดสิ่งต่างๆ จากพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด รวมทั้งมีบทบาทในการเป็นผู้นำด้านอื่นๆ ด้วย ส่วนใหญ่พวกเขาจะอยู่ที่บ้านของตนเองในชุมชน แต่บางคนก็ต้องเดินทางไปทำพันธกิจ (10:41) นักบุญมัทธิวเห็นคุณค่าของประกาศกเหล่านั้นและมองว่าพวกเขาคือตัวอย่างของผู้นำพระศาสนจักรทั้งมวลและการดำเนินชีวิตแบบชาวคริสต์ (5:12) แต่ก็มองเห็นอันตรายที่อาจเกิดจากการมีผู้นำที่มีพระพรพิเศษเช่นนั้นด้วย (7:15, 21-22; 24:11, 24)

นักบุญมัทธิวแสดงความเข้าใจด้วยว่าพระเยซูคริสต์เจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนม์ชีพได้ส่งผู้ทรงความรู้และธรรมาจารย์ (Sages and Scribes) มาทำหน้าที่เป็นผู้นำในพระศาสนจักร (13:52: 23:34) ไม่ปรากฎโดยเฉพาะอย่างชัดเจนว่าหน้าที่ของผู้ทำพันธกิจเหล่านี้คืออะไร ที่เห็นได้ชัดคือบทบาทของพวกเขาคล้ายคลึงหรือพัฒนามาจากบทบาทผู้นำในศาสนายูดายที่อยู่แวดล้อม ผู้ทรงความรู้น่าจะทำหน้าที่ถ่ายทอดและตีความธรรมประเพณีแห่งปรีชาญาณ (Wisdoms) ของชุมชน แต่ในลักษณะที่แตกต่างไปจากศาสนายูดาย  เนื่องจากนักบุญมัทธิวไม่เพียงแต่เข้าใจว่าพระเยซูคือผู้ส่งสารแห่งองค์ปรีชาญาณ(the Messenger of Wisdom)เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ภาพลักษณ์แห่งองค์ปรีชาญาณที่อยู่เหนือโลกนี้ (Transcendent Wisdom)มาเป็นกลุ่มแนวคิดทางคริสตวิทยา (Christological Category) เพื่อเรียนรู้และเข้าใจสถานะของพระคริสต์ผู้ทรงกลับคืนพระชนม์ชีพและได้รับการยกขึ้นสู่สวรรค์ด้วย ส่วนธรรมาจารย์นั้นไม่เพียงแต่ถ่ายทอดเนื้อหาพระคัมภีร์ซ้ำอีกครั้ง พร้อมทั้งเพิ่มการอธิบายตีความพระคัมภีร์และธรรมบัญญัติแบบมิดรัช14 (Midrachic Interpretation) และการยกข้อความอ้างอิงเพื่อเติมเต็มความหมาย (Fulfillment Quotations) แต่สันนิษฐานว่าพวกเขาคงจะทำเช่นเดียวกันกับธรรมประเพณีอื่นๆ ของชุมชนด้วย เช่น เอกสารแหล่ง Q  พระวรสารนักบุญมาระโก และเอกสารพิเศษอื่นๆ ของนักบุญมัทธิว ซึ่งหมายความว่านักบุญมัทธิวมีเอกสารแหล่ง Q และพระวรสารนักบุญมาระโกที่ผ่านการตีความโดยธรรมาจารย์ชาวคริสต์แล้ว และนักบุญมัทธิวเองก็อาจเป็นธรรมาจารย์ชาวคริสต์อีกท่านหนึ่งที่นำสิ่งเก่าและสิ่งใหม่จากคลังสมบัติแห่งธรรมประเพณีที่ท่านสั่งสมไว้ออกมาเพื่อการอบรมสั่งสอนประชาชนในชุมชน (13:52) ไม่ต้องสงสัยเลยว่าบรรดาผู้ทรงความรู้และธรรมาจารย์ (เช่นเดียวกับประกาศก) มีบทบาทและมีส่วนร่วมในพันธกิจการสอนศาสนาภายในชุมชน แต่บทบาทที่เฉพาะเจาะจงของพวกเขาและความเชื่อมโยงระหว่างบทบาทของพวกเขาจะเป็นอย่างไรก็ไม่สามารถระบุได้

นักบุญมัทธิวใช้คำว่า “ผู้ชอบธรรม” (Righteous) และ “คนเล็กน้อย,ผู้ต่ำต้อย” (Little Ones) ในการเรียกสมาชิกของชุมชน (10:41-42; 13:17, 49; 18:6, 10,14) มีผู้ให้ความเห็นว่าคำทั้งสองเป็นคำกึ่งเทคนิคเฉพาะที่ใช้เรียกผู้นำพระศาสนจักรตามธรรมประเพณีของพันธสัญญาเดิม คำว่า “ผู้ชอบธรรม” (Righteous)  หรือ “ผู้เที่ยงธรรม” (Just) คือตำแหน่งที่มอบให้กับผู้นำของพระศาสนจักรที่เยรูซาเล็ม “นักบุญยากอบผู้เที่ยงธรรม” (James the Just) ดังนั้นบางครั้งผู้นำในพระศาสนจักรของนักบุญมัทธิวก็ได้รับสมญานามว่าเป็นผู้ “ชอบธรรม” ส่วนคำว่า “คนเล็กน้อย,ผู้ต่ำต้อย” คิดกันว่าอาจเป็นชื่อพิเศษที่ใช้เรียกผู้ประกาศสอนศาสนา เนื่องจากนักบุญมัทธิวไม่ได้ใช้ชื่อเรียกเฉพาะ เช่น “ชาวคริสต์” ในการเรียกสมาชิกของชุมชน จึงจะดีกว่าถ้าเราตีความว่าทั้ง “ผู้ชอบธรรม” และ “ผู้เล็กน้อย,ผู้ต่ำต้อย” เป็นชื่อเรียกทั่วๆ ไปที่สื่อถึงสมาชิกที่แท้จริงของชุมชนชาวคริสต์ (เช่นเดียวกับคำว่า “พี่น้อง” “บุตรของพระเป็นเจ้า” “ผู้รับใช้” “ทาส” “ศิษย์,สาวก”) ที่ไม่ได้เป็นทั้งประกาศก (ผู้เผยพระวจนะ) ผู้ทรงความรู้ หรือธรรมาจารย์

สถานภาพทางสังคม (Social Status)

พระวรสารนักบุญมัทธิวมีลักษณะการเขียนเล่าเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงภาพสังคมเมืองที่ค่อนข้างมั่งคั่ง คำว่า “ยากจน” (Poor) และ “หิวโหย” (Hungry) ในบทมหาบุญลาภของเอกสารแหล่ง Q กลายเป็นคำว่า “ยากจนในจิตวิญญาณ” (Poor in Spirit) กับ “หิวและกระหายความชอบธรรม” (Hungry and Thirst for Righteousness) ในพระวรสารนักบุญมัทธิว (มธ. 5:3,6 // ลก. 6: 20-21) การอ้างอิงถึงเหรียญทองแดงเล็กๆ ก็ถูกเปลี่ยนเป็นทองคำและเหรียญที่มีมูลค่าสูงขึ้น (มก. 6:8 // มธ. 10:9; ลก. 19:11-27 // มธ. 25: 14-30) และเรื่องราวเกี่ยวกับการเงินในระดับสูง (ตัวอย่างเช่น 18:23-35) และงานเลี้ยงสังสรรค์หรูหรา (22:1-14) นักบุญมัทธิวเจาะจงเพิ่มเติมเนื้อหาลงไปในพระวรสารนักบุญมาระโกว่า โยเซฟแห่งอาริมาเธีย (Joseph of Arimathea) ผู้ฝังพระศพของพระเยซูเจ้าเป็นทั้งศิษย์และเป็นชายผู้มั่งคั่งด้วย (27:57)

สถานที่แหล่งกำเนิด (Place of Origin)

เนื้อหาสาระในเรื่องเล่ามีการโต้แย้งเกี่ยวกับสถานที่หลายแห่งว่าเป็นที่อยู่ของชุมชนชาวคริสต์ของนักบุญมัทธิว ได้แก่ ปาเลสไตน์ (กาลิลี, ซีซาเรีย, เยรูซาเล็ม) ซีเรีย (ไทร์ หรือ ไซดอน, อันติโอค) อียิปต์ (อเล็กซานเดรีย) ทรานส์จอร์แดน (เพลลา) แต่นักวิชาการส่วนใหญ่มองว่าน่าจะเป็นเมืองอันติโอค เนื่องจากเหตุผลต่างๆ ดังต่อไปนี้ (1) หลักฐานภายในของพระวรสารชี้ให้เห็นถึงภาพสถานที่ที่เป็นเมืองและประชาชนพูดภาษากรีก ชาวยิวและชาวคริสต์มีความสัมพันธ์ที่ข้ดแย้งตึงเครียด ภาษากรีกเป็นภาษาหลักที่ใช้กันในเมืองอันติโอก ซึ่งอาจมีประชากรชาวยิวมากที่สุดในซีเรีย พระวรสารมัทธิวดูจะมีบรรยากาศแบบเมืองมากกว่าเอกสารแหล่ง Q หรือพระวรสารนักบุญมาระโก จะเห็นได้ว่าในพระวรสารนักบุญมาระโกมีการกล่าวถึงเมืองใหญ่ 8 ครั้งและกล่าวถึงหมู่บ้าน 7 ครั้ง แต่ในพระวรสารนักบุญมัทธิวกล่าวถึงเมืองใหญ่ 26 ครั้งและกล่าวถึงหมู่บ้านเพียงแค่ 4 ครั้ง (2) นักบุญเปโตรมีความโดดเด่นในพระวรสารนักบุญมัทธิวและธรรมประเพณีของชาวอันติโอค ซึ่งทำให้ท่านกลายเป็นพระสังฆราชแห่งเมืองอันติโอค หลังจากมีการพบปะเผชิญหน้ากันระหว่างนักบุญเปโตรกับนักบุญเปาโลในเมืองนั้น (กท. 2) นักบุญเปาโลดูเหมือนจะไม่โดดเด่นในความนิยมของกลุ่มคริสตชนในแถบนั้นไป (3) เยรูซาเล็มไม่น่าจะเป็นเมืองที่บรรยายในพระวรสารไปได้เลยเพราะนักบุญยากอบไม่มีบทบาทใดๆ ในพระวรสาร (4) นักบุญมัทธิวได้ใส่ “เมืองซีเรีย” เพิ่มเติมลงไปแหล่งข้อมูลของท่าน (4:24) อาจเพื่อชี้ถึงพระศาสนจักรของตนและเพื่อให้เหตุผลสนับสนุนว่าพระศาสนจักรนั้นเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งการไถ่กู้มนุษย์ (5) การติดต่อเชื่อมโยงกับนักบุญอิกญาซีโอแห่งอันติโอคและหนังสือคำสอนดั้งเดิมชี้ให้เห็นว่าบริเวณนี้คือแหล่งที่มาของพระวรสารนักบุญมัทธิว (6) มีเพียงในเมืองอันติโอคเท่านั้นที่เงินหนึ่งเหรียญ สเตเตอร์ (Stater) มีค่าเท่ากับสองดรักม่า (Drachma)พอดี (17:24-27) (7) ถ้าพระวรสารนักบุญมัทธิวมาจากเมืองอันติโอคก็จะสอดคล้องกับสถานการณ์ที่บรรยายไว้ในหนังสือกิจการอัครสาวก ว่าชาวปาเลสไตน์เป็นผู้เริ่มต้นคริสตจักรอันติโอก (Antiochene Church) ซึ่งมีการพัฒนาพันธกิจเพื่อชนต่างศาสนา ซึ่งอยู่ในสภาวะตึงเครียดอยู่ด้วยเช่นกัน (8) การยอมรับและการประกาศข่าวดีในช่วงแรกของพระวรสารนักบุญมัทธิวสื่อให้เห็นโดยอ้อมถึง “การสนับสนุน” ของพระศาสนจักรใหญ่ ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าโรมหรือเมืองเอเฟซัสเป็นผู้สนับสนุน จึงเหลือเพียงอันติโอคเท่านั้นที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด

ในเรื่องของวันเวลา ชุมชนชาวคริสต์ของนักบุญมัทธิวดำรงอยู่เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเมื่อต้องปรับตัวกับการเผชิญสถานการณ์ใหม่ๆ แต่พระวรสารนี้เองเป็นตัวแทนของภาพที่ตัดขยายให้เห็นถึงธรรมประเพณีดังกล่าวที่เติบโตขึ้น ณ จุดเวลาหนึ่ง เป็นเหมือน “ภาพที่หยุดนิ่ง” ในงานเขียนทางเทวศาสตร์ของธรรมาจารย์ผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้นำของชุมชน ในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ เนื่องจากพระวรสารไม่มีข้อมูลบ่งบอกลำดับเวลาที่จะระบุได้ว่าถูกเขียนขึ้นเมื่อใด จึงไม่อาจเจาะจงวันเวลาที่ชัดเจนได้ แต่ก็มีเครื่องบ่งชี้ถึงระยะโดยรวมอยู่บ้าง คือ

1. จากสมมุติฐานเกี่ยวกับสองแหล่งกำเนิด พระวรสารนักบุญมัทธิวจะต้องถูกเขียนขึ้นหลังจากเอกสารแหล่ง Q และพระวรสารนักบุญมาระโก ซึ่งมีเหตุผลที่ดีในการระบุว่าพระวรสารนักบุญมาระโกน่าจะมีผู้เขียนขึ้นสองสามปี ก่อนหน้าหรือหลังสากลศักราชปีที่ 70 ดังนั้น พระวรสารนักบุญมัทธิวก็น่าจะเกิดขึ้นหลังจากพระวรสารนักบุญมาระโกมากพอสมควร จนสามารถกลายเป็นธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน

2. สงครามปี 66-70 และการทำลายกรุงเยรูซาเล็มที่เกิดขึ้นตามมานั้น 22:17 สะท้อนให้เห็นอย่างเกือบจะแน่ชัด แต่ดูเหมือนนักบุญมัทธิวจะไม่ตื่นตระหนกใดๆ ไปกับหายนะนั้น จึงทำให้ดูเหมือนว่าช่วงเวลาที่เขียนน่าจะอยู่ห่างไกลกัน ทั้งในด้านสถานที่และกาลเวลา

3. นักบุญมัทธิวมีความวิตกกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการก่อตัวขึ้นของศาสนายูดายในยุคแรกหลังปี ค.ศ. 70 จึงยากที่จะตัดสินได้ว่าทำไมท่านต้องการเจาะจงสะท้อนถึง “เบอร์คาธ ฮา-มินิม” ซึ่งปรากฏอย่างชัดเจนว่ามีการเผยแพร่ในสากลศักราช 80 หรือไม่ (ดูด้านบน)

4. พระวรสารนักบุญมัทธิวและเอกสารอื่นๆ ที่อยู่นอกธรรมประเพณีของนักบุญมัทธิว ดูจะมีการนำไปใช้ในหนังสือคำสอนดั้งเดิม “ดีดาเค” และเอกสารของนักบุญอิกญาซีโอ (ดูด้านบน) การระบุวันเวลาที่ชัดเจนของหนังสือดีดาเคว่าเขียนขึ้นในช่วงเวลาใดเป็นเรื่องยาก แต่เอกสารของนักบุญอิกญาซีโอเขียนขึ้นประมาณ ปี ค.ศ. 110 ดังนั้นปี ค.ศ. 90 จึงน่าจะเป็นตัวเลขที่เป็นสัญลักษณ์ของปีที่เขียน (พระวรสารนักบุญมัทธิว) ได้ดีพอสมเหตุสมผล

ความรู้ทั่วไป